สถาบันอิศราร้อนฉ่า! ผอ.ดิ้นร้องทบทวนมติ ‘ต่อสัญญาจ้าง’ โวยไม่เป็นธรรม ปมมูลนิธิพัฒนาสื่อฯ จ้างต่อแค่ 1 ปี-ไม่ปรับขึ้นเงินเดือน บอร์ดแจงคุณสมบัติ ‘ผอ.สถาบันฯ’ ต้องโปร่งใส-แข่งขันอย่างเป็นธรรม กังขา! ตั้งบริษัท อิศรา ไทย เพรสฯ เพื่อผลประโยชน์ทางภาษี เหมาะสมหรือไม่ !! เหตุมุ่ง ‘แสวงเงินรายได้’ มากกว่าการพัฒนาสื่อ ขณะที่ ‘คนข่าว’ หวั่นกระทบภาพลักษณ์-จรรยาบรรณวิชาชีพสื่อฯ ชี้อาจถูกมอง ‘ใช้เทคนิคหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่’
จากกรณีที่นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา ได้ทำหนังสือถึง นายมานิต สุขสมจิตร ประธานคณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการบริหารสถาบันอิศรา ขอให้ทบทวนมติ เรื่องการพิจารณาค่าตอบแทนและต่อสัญญาจ้าง ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา ซึ่งกรรมการทั้งสององค์กรได้หารือกันไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีมติให้ต่อสัญญาจ้างนายประสงค์อีก 1 ปี และไม่เพิ่มค่าตอบแทน
โดยนายประสงค์ ให้เหตุผลว่า มติดังกล่าวไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เพราะตนเองมีผลงานในการหารายได้เข้าสถาบันอิศราเป็นจำนวนมาก และสามารถหารายได้เป็นบวกให้กับองค์กรมาโดยตลอด สถาบันเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีผู้สนับสนุนรายใหม่เข้ามาเป็นจำนวนมาก
ความตอนหนี่งในหนังสือดังกล่าว ระบุว่า “ดังนั้นการที่คณะกรรมการฯ ต่อสัญญาให้กับข้าพเจ้าเพียง 1 ปี เสมือนกับข้าพเจ้าได้บริหารงานบกพร่องไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เสมือนเหมือนกับเป็นการลงโทษข้าพเจ้าที่ทำงานบกพร่อง เพราะการต่อสัญญาในแต่ละครั้งในช่วงที่ผ่านมาได้ต่อสัญญาครั้งละ 2 ปีมาตลอด ดังนั้น จึงขอเรียนให้คณะกรรมการฯ กรุณาทบทวนมตีในการต่อสัญญาจ้างให้กับข้าพเจ้าไม่น้อยกว่าสัญญาเดิมที่ผ่านมา และพิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนให้กับข้าพเจ้าด้วย”
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนฯ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้เกิดข้อถกเถียงกันในที่ประชุม เพราะมีกรรมการได้ซักถามนายประสงค์ ในหลายเรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะกรณีที่มีคนในแวดวงสื่อมวลชนกังขาว่า
การนำสถาบันอิศรา ไปตั้งเป็นบริษัท อิศรา ไทย เพรส เดเวลอปเมนท์ จำกัด ที่อ้างว่าเพื่อผลประโยชน์ทางภาษีนั้น ‘มีความเหมาะสมหรือไม่’ ซึ่งอาจกระทบต่อภาพลักษณ์และจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อ เพราะมุ่งแสวงเงินรายได้มากกว่าการพัฒนาสื่อ รวมถึงอาจถูกมองว่า เป็นการใช้เทคนิคตามกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพพจน์ความเป็นสถาบันของสื่อโดยรวม
นอกจากนี้ การใช้ชื่อ “อิศรา” ไปตั้งเป็นชื่อบริษัท ได้มีการไปขออนุญาตองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ก่อนนำไปจดทะเบียน เนื่องจาก “อิศรา อมันตกุล” เป็นบุคคลสำคัญของวงการสื่อมวลชนไทย และเป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา จนเป็นที่ยอมรับของสังคม เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องเชิดชู และเป็นแบบอย่างที่ดีของวงการสื่อมวลชนจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม กรรมการหลายคนเห็นว่า เรื่องนี้ยังมีสื่อมวลชนจำนวนมากยังไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของการตั้งบริษัท อิศรา ไทย เพรสฯ และได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ที่ประชุมจึงมติให้นายประสงค์ และนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปราณี ซึ่งเป็นผู้ผลักดันเรื่องนี้ ไปทำความเข้าใจกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ต่อไป
สำหรับวาระในการพิจารณาค่าตอบแทนและต่อสัญญาจ้าง ‘ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา’ นั้น ที่ประชุมก็ได้มีการพูดกันอย่างกว้าง ทั้งผลงานและความสามารถ ซึ่งประชุมเห็นว่า ‘นายประสงค์’ ได้อยู่ในตำแหน่งมาอย่างยาวนาน 12 ปี โดยที่การต่อสัญญาแต่ละครั้งนั้น ทำกันโดยไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลงานไว้อย่างชัดเจน และเพื่อให้การพัฒนาสถาบันอิศรา เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ที่ประชุมจึงมีมติให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่จัดทำคุณสมบัติ หลักเกณฑ์การสรรหา “ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา” ให้มีมาตรฐานที่ชัดเจน และเพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งอย่างเป็นธรรม
ต่อเรื่องดังกล่าว ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วอย่างรอบคอบ จึงมติเอกฉันท์ต่อสัญญาจ้างนายประสงค์ 1 ปี และไม่เพิ่มค่าตอบแทน ซึ่งเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว