Home Thailand ‘เศรษฐา’ ไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่! ศาล รธน.รับคำร้อง 40 สว. ปมตั้ง ‘พิชิต’ นั่ง รมต.

‘เศรษฐา’ ไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่! ศาล รธน.รับคำร้อง 40 สว. ปมตั้ง ‘พิชิต’ นั่ง รมต.

by admin

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5-4 รับคำร้อง 40 สว. ตีความคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีสิ้นสุดหรือไม่ กรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ แต่ไม่สั่ง “เศรษฐา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วน “พิชิต” ศาลไม่รับวินิจฉัย เหตุพ้นจาก รมต.ไปแล้ว

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง หลังประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่

จากกรณีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน ได้เข้าชื่อกันยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เมื่อ 15 พ.ค.67 เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา เนื่องจากเห็นว่า นายเศรษฐาอาศัยอำนาจหน้าที่ความเป็นนายกรัฐมนตรี “กระทำการโดยอาจมีเจตนาไม่สุจริต” กรณีแต่งตั้งนายพิชิตเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยรับโทษจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยให้ผู้ถูกร้อง (นายเศรษฐา) ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

และมีมติ 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย

สำหรับตุลาการเสียงข้างน้อย ที่เห็นว่า “ไม่ควรรับคำร้องไว้พิจารณา” ได้แก่ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ

ขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อยที่เห็นว่า นายเศรษฐา “ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่” ประกอบด้วย นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายจิรนิติ หะวานนท์

อย่างไรก็ตาม กรณีของนายพิชิต ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้มีคำร้องลงวันที่ 23 พ.ค. แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ได้ลาออกจากตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แล้ว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (2) กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีต่อไป

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 มีคำสั่ง ไม่รับคำร้อง เฉพาะส่วนของนายพิชิตไว้พิจารณา โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย คือ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม

Related Articles

Leave a Comment