“รมว.สาธารณสุข” ลงนามคำสั่งถึง สธ.ทั่วประเทศ รับมือฝุ่น PM 2.5 หลังเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน พร้อมสั่งเข้ม 5 มาตรการ
เมื่อวันที่ 21 ม.ค.68 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า วันนี้ตนได้ประชุมร่วมกับ นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เพื่อหารือแนวทางการดูแลประชาชนในเรื่องฝุ่น PM 2.5 จึงได้ลงนามบันทึกข้อความถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ หรือ ฝุ่นละออง PM 2.5 เนื่องจากตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ เรื่องการมอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ประกอบกับนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 โดยได้รับฟังแนวทางการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานว่า ได้ดำเนินการไปแล้วอย่างไรบ้าง
พร้อมมอบหมายที่ประชุมช่วยอัพเดทข้อมูล ผ่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงผลการดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ เนื่องจากปัญหาฝุ่น PM เป็นปัญหาที่สำคัญมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงขอแจ้งมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ดังนี้
1.ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ประจำปี 2568 เตรียมความพร้อม และดำเนินการตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 2172/2567 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2567 อย่างเคร่งครัด
2.เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกและสร้างความรอบรู้เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละออง PM 2.5) ให้กับประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพ และการป้องกันตนเองจากภาวะฝุ่น PM 2.5 รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการสื่อสารให้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น
3.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ จัดทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ลงพื้นที่ดูแลกลุ่มเสียง กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดูแลประชาชนในพื้นที่
4.ขยายบริการด้านการแพทย์สาธารณสุขให้ครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสูง โดยเพิ่มบริการห้องปลอดฝุ่น และมุ้งสู้ฝุ่น รวมทั้งจัดตั้งคลินิก PM 2.5 การให้คำปรึกษาออนไลน์ในช่องทางต่างๆ
และ 5.ให้สนับสนุนอุปกรณ์เวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย น้ำเกลือ กระบอกฉีดยาสำหรับล้างจมูก จึงขอให้แจ้งหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติต่อไปด้วย