“รองโฆษกรัฐบาล” พาสื่อลงพื้นที่ปาดังเบซาร์ ส่องความคืบหน้ารถไฟรางคู่ เชื่อมโยงท่องเที่ยวไทย–มาเลเซีย กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ สร้างเงินหมุนเวียนภาคใต้ เผยมูลค่าทางการค้า “ด่านปาดังเบซาร์” ปี 67 สูงถึง 1.54 แสนล้านบาท
วันนี้ (16 ก.พ.) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ด่านปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เพื่อศึกษาข้อมูลแนวทางรองรับรถไฟรางคู่ ปาดังเบซาร์-หาดใหญ่ และติดตามสถานการณ์การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและชาติอื่นๆ เข้าไทยโดยการท่องเที่ยวทางราง
รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า จังหวัดสงขลามีศักยภาพสูงในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางด้วยรถไฟ โดยเฉพาะจากประเทศมาเลเซีย KTM Berhad (การรถไฟมาลายา) ได้เปิดให้บริการรถไฟขบวนพิเศษ “MY Sawasdee” ตั้งแต่ปี 2565 บนเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-หาดใหญ่ ได้รับความนิยมสูงจากนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา KTM Berhad ได้จัดเดินรถขบวนพิเศษดังกล่าวจำนวน 16 เที่ยว รองรับผู้โดยสารกว่า 6,000 คน และในปี 2568 นี้ มีแผนเพิ่มจำนวนเที่ยวเป็น 28 เที่ยว แบ่งเป็น เส้นทางกัวลาลัมเปอร์-หาดใหญ่ 25 เที่ยว และเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-สุราษฎร์ธานี 3 เที่ยว ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในพื้นที่สงขลาและจังหวัดใกล้เคียง


ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียที่เดินทางผ่านบริษัททัวร์ โดยนิยมแวะเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลาก่อนเดินทางกลับ เช่น ย่านเมืองเก่าสงขลา หาดสมิหลา เจดีย์สแตนเลส ตลาดน้ำคลองแห ตลาดกิมหยง และแหล่งช้อปปิ้งชื่อดังอื่นๆ ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และสร้างเงินหมุนเวียน จากข้อมูลของด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา มาเลเซีย เป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยมากที่สุด ในปี 2567 มีจำนวนสูงถึง 2,479,427 คน ขณะที่เดือนมกราคม 2568 เพียงเดือนเดียว มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเดินทางเข้ามาถึง 222,988 คน
นายอนุกูล กล่าวว่า ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ มูลค่าทางการค้า ในปีงบประมาณ 2567 รวม 154,741.88 ล้านบาท โดยสินค้า 5 อันดับแรกที่ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ 1.ยางธรรมชาติ 2.ยางสังเคราะห์ 3.ไม้ที่เลื่อยหรือถากตามยาว ฝานหรือลอก 4.ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานยนต์ และ 5.เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติและหน่วยต่างๆ
สำหรับสถิติจัดเก็บรายได้ เมื่อปีงบประมาณ 2567 รายได้ศุลกากรจัดเก็บรวมทั้งหมด 2,943 ล้านบาท และข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2568 (1 ตุลาคม 2567-13 กุมภาพันธ์ 2568) จัดเก็บได้แล้วประมาณ 530 ล้านบาท