อุตสาหกรรมการบินสหรัฐฯ เริ่มเจ็บหนัก ผลพวงสงครามการค้า “โบอิ้ง” ต้องนำเครื่องบินใหม่ Boeing 737 Max บินจากจีนกลับบ้าน หลัง “สายการบินจีน” ปฏิเสธการรับมอบ
สำนักข่าวรอยเตอร์ส และบลูมเบิร์ก รายงานว่า บริษัท “โบอิ้ง โค” (Boeing Co.) ได้นำเครื่องบินใหม่ Boeing 737 Max ที่กำลังจะส่งมอบในจีน บินกลับไปที่สหรัฐแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 18 เม.ย. หลังจากที่ถูกลูกค้า “สายการบินจีน” ปฏิเสธการรับมอบเครื่องบิน ท่ามกลางสงครามภาษีการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น
รายงานระบุว่า เครื่องบินลำดังกล่าวเป็นหนึ่งในฝูงบิน Boeing 737 Max ซึ่งจอดอยู่ที่ศูนย์ประกอบเครื่องบินของโบอิ้งในเมืองโจวซาน มณฑลเจ้อเจียง โดยมีกำหนดส่งมอบให้กับสายการบิน “เซียะเหมินแอร์” (Xiamen Air) แต่สุดท้ายต้องบินจากเมืองโจวซานไปยังเกาะกวม ของสหรัฐ ซึ่งเป็นเที่ยวบินแรกข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกตามข้อมูลจาก FlightRadar24 และคาดว่าจะมุ่งหน้ากลับไปยังซีแอตเทิลต่อไป
เครื่องบินลำดังกล่าวเพิ่งเดินทางออกจากซีแอตเทิล ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของโบอิ้งในสหรัฐ ไปยังโจวซานโดยผ่านทางฮาวายและเกาะกวมเมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่ข้อมูลของ Aviation Flights Group ระบุว่า ปัจจุบันยังมีเครื่องบินของโบอิ้งในจีนที่รอการส่งมอบอีกอย่างน้อย 2 ลำ
ทางด้านบริษัทโบอิ้งปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ และยังไม่มีความคิดเห็นอย่างเป็นทางการจากปักกิ่งหรือสื่อของรัฐบาลจีนเช่นกัน
การเดินทางกลับโรงงานของโบอิ้งเป็นระยะทาง 5,000 ไมล์ เกิดขึ้นในขณะที่ธุรกิจของผู้ผลิตเครื่องบินสหรัฐในจีนกำลังถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากข้อพิพาทเรื่องภาษีศุลกากรระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง
“สำนักข่าวบลูมเบิร์ก” รายงานว่า โบอิ้งอาจเผชิญกับการห้ามนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเผชิญหน้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นเกี่ยวกับภาษีศุลกากรทั่วโลกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เรียกเก็บภาษีจากจีน 145%
“รอยเตอร์ส” ระบุว่า แหล่งข่าวระดับสูงในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศต่างระบุว่า ยังไม่ทราบถึงคำสั่งห้ามอย่างเป็นทางการของจีนต่อเครื่องบินโบอิ้ง
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวและนักวิเคราะห์ต่างก็เห็นพ้องว่า มาตรการตอบโต้ของจีนต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐนั้น อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าเครื่องบินไปด้วย แม้ว่าจะไม่มีคำสั่งห้ามในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการออกมาก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงในอุตสาหกรรมรายหนึ่งกล่าวว่า โบอิ้งและซัพพลายเออร์กำลังวางแผนโดยยึดหลักที่ว่า จะไม่มีการส่งมอบเครื่องบินให้กับจีนในขณะนี้