Home Feature ฟันหมอ! เอื้อ ‘แม้ว’ นอนชั้น 14 เคาะมติ! ‘แพทยสภา’ ชี้ปมจริยธรรม ตักเตือน 1-พักใบอนุญาต 2

ฟันหมอ! เอื้อ ‘แม้ว’ นอนชั้น 14 เคาะมติ! ‘แพทยสภา’ ชี้ปมจริยธรรม ตักเตือน 1-พักใบอนุญาต 2

by admin

ร้อนฉ่า!!! ปม “ทักษิณ” ป่วยทิพย์ ชั้น 14 “แพทยสภา” มีมติลงโทษกรณีผิดจริยธรรม “แพทย์ราชทัณฑ์-รพ.ตำรวจ” ตักเตือน 1 ราย ประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ได้มาตรฐาน ปมออกใบส่งตัว “พักใบอนุญาต” อีก 2 ราย ฐานให้ข้อมูล-เอกสารทางการแพทย์ไม่ตรงความจริง ชี้ไร้หลักฐานเชิงประจักษ์ว่า “ป่วยวิกฤต” เตรียมเสนอ “รมว.สาธารณสุข” เห็นชอบตามขั้นตอน แง้มวงประชุม 60 คน “นายกแพทยสภา” ติดภารกิจต่างประเทศ ด้านปลัด สธ.-อธิบดีกรมการแพทย์-อธิบดีกรมอนามัย ส่งผู้แทนร่วม จับตา! “แม้ว” ยื่นคำร้องศาลอาญา ขอเดินทางออกนอกประเทศ

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่อาคารมหิตลาธิเบศร กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประชุมคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ ครั้งที่ 5/2568 โดยมีวาระการพิจารณาผลการสอบสวนกรณีจริยธรรมแพทย์ กรณีมีการกล่าวโทษทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม กรณีอาการป่วยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี เป็นประธานคณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ

โดยล่าสุด ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภา คนที่ 1 แถลงผลการประชุมแพทยสภาในวันนี้ว่า เนื่องจากไม่มีภาวะที่ปรากฏเป็นวิกฤตตามข่าวก่อนหน้านี้ พิจารณาลงโทษแพทย์ 3 คน คือ 1.แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ที่ถูกว่ากล่าวตักเตือน เพราะความผิดไม่ได้รุนแรงมากนัก คือการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน เกี่ยวกับการออกใบส่งตัว และ 2.พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม แพทย์อีก 2 คน ในกรณีให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง

ทั้งนี้ แพทยสภามีหน้าที่ต้องเสนอมติต่อสภานายกพิเศษ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอความเห็นชอบก่อนจะดำเนินการตามมติ ซึ่งเป็นขั้นตอนตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ต่อไป

“ข้อมูลที่ได้รับมานั้น ไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่ามีภาวะวิกฤติเกิดขึ้น ตามที่มีการแถลงข่าว เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่ตีความ แต่ว่าทั้งหมดนี้เป็นเหตุแห่งการที่เรากําหนดต้องมีการลงโทษ การพักใช้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมถือเป็นการลงโทษรุนแรงกับแพทย์ทุกท่านอยู่แล้ว ฉะนั้นเราถือว่าเป็นการผิดที่รุนแรง”

“วันนี้ทําไมเราไม่สามารถบอกได้ว่าพักใช้นานเท่าไหร่ เพราะว่าจะต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐมนตรีก่อน แล้วถ้าวันนี้เราให้ข้อมูลไปแล้วเกิดไม่ตรงกับท่านรัฐมนตรี เพราะอย่าลืมที่แถลงข่าวว่ามี 7 ขั้นตอนนั้น ซึ่งขั้นตอนสุดท้าย จะต้องส่งมติแพทยสภาไปให้รัฐมนตรี และรัฐมนตรีเห็นชอบก็ไปตามนั้นเลย แต่ถ้าไม่เห็นชอบ เรื่องจะกลับกลับมาที่แพทยสภาอีกครั้งจนได้ข้อสรุป” อุปนายกแพทยสภา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ มีประมาณ 70 คน ประกอบด้วย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ 28 คณะ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลสี่เหล่าทัพ คือ เจ้ากรมแพทย์ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลทราบว่า มีคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมประมาณ 60 คน ในส่วนของผู้ที่ลาประชุมเบื้องต้น คือ ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ติดภารกิจไปต่างประเทศ สัดส่วนผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย ซึ่งปรากฏว่ากรรมการทั้ง 3 คนได้ส่งผู้แทนมาเข้าประชุมแทน เนื่องจากติดภารกิจ

Related Articles