“ดีเอสไอ” เร่งสอบคดี “ฟอกเงิน-อั้งยี่” คุ้ยเส้นทางการเงินต้องสงสัย พบโยงบุคคลกว่า 1,200 ราย เอี่ยวขบวนการ “ฮั้ว สว.” คาดออกหมายเรียกผู้ต้องหากลุ่มแรก ภายใน พ.ค.นี้ “โฆษก DSI” แจงร่อนหนังสือถึง “ผบ.ตร.-ปลัด มท.” ขอร่วมมือสอบพยาน ชี้ไม่กังวล เหตุ “กรมการปกครอง” โต้แย้งสอบพยานต้องอยู่ภายใต้ “พ.ร.บ.อุ้มหาย”
วันนี้ (13 พ.ค.) พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา กกต. ร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ออกหมายเรียก สว. จำนวน 55 ราย มารับทราบข้อกล่าวหา พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ตามมาตรา 32, มาตรา 36, มาตรา 62, มาตรา 70 และมาตรา 77 ซึ่งเป็นการปฏิบัติภารกิจภายใต้ กกต. และดีเอสไอ ร่วมส่งหนังสือด้วยเฉพาะในกรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดเป็นเจ้าหน้าที่ กกต. และตำรวจ
พ.ต.ต.วรณัน เผยว่า สำหรับประเด็นการสอบสวนของ กกต. ไม่ทราบว่าใบบันทึกแจ้งข้อหาของ กกต. ระบุพฤติการณ์อย่างไรบ้าง แต่ก็ต้องชี้แจงตามข้อเท็จจริงที่อาจแตกต่างกันไป และในคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวนมีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 3 รายร่วมด้วย หากมีส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อในรูปคดีการฟอกเงิน-อั้งยี่ ของดีเอสไอก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
“ในคดีอั้งยี่ เป็นพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลที่กระทำการผิดกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง และพัวพันกับภารกิจของ กกต. เป็นการได้มาซึ่ง สว. โดยไม่บริสุทธิ์เที่ยงธรรมหรือไม่ และเกี่ยวพันกับกฎหมายฟอกเงิน มาตรา 3 (10) ที่เป็นความผิดมูลฐาน ส่วนคนร่วมให้มีการจัดฮั้วหากพบเส้นทางการเงินเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการกระทำความผิด ช่วงระหว่างเกิดเหตุตั้งแต่ระดับอำเภอถึงระดับประเทศ อาจถูกแจ้งข้อหาฟอกเงิน เข้าองค์ประกอบอยู่ใน มาตรา 5-มาตรา 9 โดยขณะนี้ได้รับรายงานว่าบุคคลเกี่ยวข้องกับเส้นทางการเงินที่มีเหตุสงสัย ประมาณ 1,200 คน จำนวนเงินอยู่ระหว่างตรวจสอบ” โฆษก DSI กล่าวยืนยัน
เมื่อถามว่า ภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ จะมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน-อั้งยี่ รับทราบข้อกล่าวหา เป็นไปได้หรือไม่ เพราะอาจเกี่ยวข้องกับ 1,200 ราย พ.ต.ต.วรณัน ระบุว่า ตนคิดว่าน่าจะเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องของเส้นทางการเงินทั้งหมดที่ต้องตรวจสอบ แต่ไม่ใช่หมายความว่าทั้ง 1,200 รายจะเป็นผู้ต้องหาหรือไปเกี่ยวข้องทุกกรณี ต้องดูพยานหลักฐานอื่นประกอบด้วย
ทั้งนี้ การทำงานของ กกต. กับ ดีเอสไอ มีลักษณะแตกต่างกัน โดย กกต.เน้นการได้มาซึ่ง สว. ที่ไม่ยุติธรรม มีเหตุสงสัยเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาและส่งศาลพิจารณา แต่ในส่วนดีเอสไอ เป็นเรื่องคดีอาญากระทบสิทธิเสรีภาพ การทำงานความเข้มข้นมากกว่า การแจ้งข้อหาใครได้ต้องมีหลักฐานพอสมควร
เมื่อถามถึงกรณีอธิบดีดีเอสไอ ส่งเอกสารด่วนถึง ผบ.ตร.-ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนในการสอบสวนพยานคดีฟอกเงินฮั้ว สว.นั้น พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า เป็นเรื่องของความร่วมมือตามกฎหมายดีเอสไอ ว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน่วยงานในพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ความเข้าใจในตัวกฎหมายอาจไม่เหมือนกัน การที่ดีเอสไอมีหนังสือแจ้งไปเพื่อจะบอกว่าสิ่งที่จะทำนั้นคือเรื่องอะไร ขอบเขตอำนาจหน้าที่เพื่อความชัดเจน
ถามต่อว่า กรมการปกครอง ก็ส่งหนังสือถึงอธิบดีดีเอสไอ ในการร่วมมือสอบสวนพยานคดีฮั้ว สว. เช่นกัน แต่มีข้อแย้งว่าต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.อุ้มหาย นั้น พ.ต.ต.วรณัน กล่าวเสริมว่า หากดูตามเอกสารก็ไม่มีอะไร เป็นการอธิบายตามตัวกฎหมายเพราะว่าตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย มีอำนาจการใช้อยู่ 4 หน่วยงาน คือ ตำรวจ ปกครอง อัยการ และดีเอสไอ ส่วนจะได้รับความร่วมมือหรือไม่ ตนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนมืออาชีพอยู่แล้ว ต้องทำตามกฎหมาย ทุกคนถูกตรวจสอบได้หมด