บัตรเบ่งป่วน! เลขาธิการสภาฯ ยันไม่มีสิทธิ์ก้าวก่าย-ล้วงสอบตั้ง “ที่ปรึกษา-เลขาฯ กมธ.” โยน กมธ.ใช้ดุลยพินิจตรวจสอบ แจงยังไม่พบเรื่องร้องเรียนปม “ซื้อ-ขาย” บัตรจอดรถสภาฯ รับทุกคนต้องการบัตรพิเศษเพื่อความสะดวก ยัน จนท.ตรวจเข้มอยู่แล้ว เหตุเคยมีข่าวอื้อฉาว
จากกรณีซื้อขายบัตรผู้ติดตามในทำนียบฯ ลามมาถึงเรื่องซื้อขายตำแหน่งในกรรมาธิการฯ (กมธ.) และบัตรจอดรถในสภาฯ ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน โดยการขอบัตรจอดรถ อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักรักษาความปลอดภัย ซึ่งมีกระบวนการกลั่นกรองดูคุณสมบัติที่จะสามารถออกบัตรจอดรถสีแดง หรือบัตรสีเขียว ต้องเป็นไปตามระเบียบ และเชื่อว่าผู้ปฏิบัติงานมีความซื่อตรงอยู่ในกรอบระเบียบ แต่หากมีกรณีการร้องเรียนมีการกล่าวหา จะมีการสอบสวนและสอบข้อเท็จจริงว่าจะเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ซึ่งมีกรอบวินัยในการดำเนินการกับข้าราชการตามประมวลกฎหมายอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าจะมีการกำชับไปยังเจ้าหน้าที่ ให้เข้มงวดในการตรวจสอบการออกบัตรที่จอดรถ เพื่อปิดช่องโหว่ข้อกล่าวหานั้น เลขาธิการสภาฯ กล่าวว่า อาจจะมีข้อทบทวนในเรื่องของการออกบัตร แต่ตอนนี้ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏชัดว่าเป็นการกระทำของใคร ยังเป็นข้อกล่าวหา ยังไม่มีกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง ตนในฐานะผู้บังคับบัญชาจะไปกล่าวหาผู้ใต้บังคับบัญชาก็ยังไม่มีหลักฐาน ตอนนี้ทุกคนถือเป็นผู้สุจริต แต่ทุกคนอยู่ในกรอบวินัยในการปฏิบัติหน้าที่ ถ้ามีข้อร้องเรียนมาจะต้องสอบและดำเนินการทาง วินัยหรือดำเนินการทางกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้อง
“พูดตรงๆ ว่าสิทธิประโยชน์ในการเข้า-ออก เป็นเรื่องปกติของฝ่ายนิติบัญญัติในการเข้า-ออกอาคาร ที่อยากจะได้บัตรพิเศษก็เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติ ก็ต้องยอมรับว่าทุกคนอยากได้ส่วนนี้ และยังเชื่อว่าในกระบวนการกลั่นกรองก็มีความเข้มอยู่ในส่วนนี้ เพราะในอดีตที่ผ่านมาในสมัยช่วงที่แล้วก็เคยมีประเด็นเรื่องนี้ และเป็นข้อยุติสอบข้อเท็จจริงไป เขาก็เฝ้าระมัดระวังอยู่ในเรื่องนี้ เพราะทราบว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวในสิทธิประโยชน์ ที่ต้องตอบให้ได้ว่าความแตกต่างของคนที่ได้รับบัตรในลักษณะแบบนั้น มีสิทธิ์อย่างไรบ้าง ก็จะกำชับไปเพื่อให้เขากลั่นกรองให้รอบคอบ”
เลขาธิการสภาฯ ยังกล่าวถึงปัญหาการแต่งตั้งบุคคลในกรรมาธิการฯ ว่า คณะกรรมาธิการ สภาฯ มีบทรองรับตามรัฐธรรมนูญ การปฏิบัติหน้าที่ต้องเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ และการปฏิบัติงานยังมีกรอบจริยธรรมของตามประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ ซึ่งรวมถึงการดูแลผู้ปฏิบัติงานในกรรมาธิการ ที่จะต้องดูแลให้อยู่ในกรอบตามที่กำหนดไว้ ดังนั้นการแต่งตั้งใครถือเป็นดุลยพินิจของกรรมาธิการ ที่เราต้องเชื่อว่ากรรมาธิการแต่ละคณะตั้งคนขึ้นมาทำงานด้วยความสุจริต และ การตรวจสอบก็เป็นดุลยพินิจของกรรมาธิการ ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก็เสนอออกคำสั่งแต่งตั้งตามคณะกรรมาธิการแต่ละคณะเสนอมา และหากมีกรณีการซื้อขายตำแหน่งหากไปเกี่ยวข้องกับกรรมาธิการ ก็เชื่อว่ากรรมาธิการแต่ละคณะอาจจะมีการสอบสวนและหาข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการมีถึง 35 คณะ และตำแหน่งต่างๆ ก็มีจำนวนมากพอสมควร โดยเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมาธิการแต่ละคณะ ซึ่งตนเชื่อว่าในทางปฏิบัติมีกระบวนการกลั่นกรองในการทำงาน เพราะเป็นองค์กรในระดับนิติบัญญัติ ดังนั้นหากมีกรณีการร้องเรียนในกรรมาธิการใดก็เป็นดุลยพินิจให้มีการตรวจสอบในเรื่องนั้น ซึ่งฝ่ายประจำจะตรวจสอบแค่ในเบื้องต้น ตามที่กรรมาธิการเสนอมา แต่ในเชิงลึกก็ต้อง เคารพในดุลยพินิจของแต่ละกรรมาธิการที่เสนอมา ซึ่งหากเสนอมาแล้วจะไปบอกว่าบุคคลที่เสนอมาไม่เหมาะสม เราคงไม่กล้าก้าวก่าย
ส่วนเรื่องวุฒิการศึกษาก็ดูแค่เบื้องต้นในเอกสารที่มีการรับรองมา ซึ่งจะแตกต่างกับกรณีของข้าราชการ ที่จะมีความเข้มข้น โดยก่อนแต่งตั้งจะมีการเช็คประวัติอาชญากรรม และตรวจสอบย้อนหลัง แต่กรณีของกรรมาธิการเราต้องเคารพ เว้นแต่ทางกรรมาธิการขอมาให้ทางสำนักงานตรวจสอบเพื่อยกมาตรฐานตรงนี้ แต่เจ้าภาพหลักในการพิจารณาปรับแก้ระเบียบในเรื่องนี้คือคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร