Home Thailand เคาะแล้ว 3 ประเด็นนิรโทษกรรม !!! จ่อชงรายงานพรุ่งนี้ โยนสภาฯ ชี้ ม.112

เคาะแล้ว 3 ประเด็นนิรโทษกรรม !!! จ่อชงรายงานพรุ่งนี้ โยนสภาฯ ชี้ ม.112

by admin

กมธ.เคาะแล้ว 3 ประเด็นนิรโทษกรรม !!! เตรียมส่งรายงานถึงประธานสภาฯ พรุ่งนี้ พร้อมชงวิปฯ บรรจุวาระเร่งด่วน โยนสภาฯ ชี้ขาด ม.112 “ชูศักดิ์” แนะรัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพ ช่วยเร่งรัดตรากฎหมายให้สำเร็จ สร้างความประนีประนอม-ไม่ต้องวนกลับไปทะเลาะเหมือนอดีต

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงสรุปผลการประชุม กมธ.นัดสุดท้ายว่า ที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุม โดยมีข้อสรุปสำคัญ ดังนี้

1.ให้มีการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง นับตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน โดยใช้รูปแบบคณะกรรมการพิจารณาตามบัญชีแนบท้ายว่ามีคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองใดบ้างที่เข้าข่าย หรือเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับการนิรโทษกรรม

2.คดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เช่น คดีที่มีความผิดต่อชีวิต หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามมาตรา 288 , 289 ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการนิรโทษกรรม

3.คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง เช่น คดีตามมาตรา 110 โดยเฉพาะคดีตามมาตรา 112 ที่สังคมจับตาว่าจะรวมหรือไม่ในการนิรโทษกรรม โดย กมธ.มีข้อสรุป แบ่งออกเป็น 3 ความเห็น คือ 1.ไม่เห็นด้วยให้นิรโทษกรรมในคดีมาตรา 110 และมาตรา 112 2.เห็นควรให้นิรโทษกรรมในคดีมาตรา 110 และมาตรา 112 โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

และ 3.เห็นควรให้นิรโทษกรรมในคดีตามมาตรา 110 และมาตรา 112 แต่ต้องมีมาตรการ มีเงื่อนไข เช่น ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่ามีมูลเหตุจูงใจใด ให้มาแถลงข้อเท็จจริงให้ทราบ มีมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เป็นต้น

ทั้งนี้ ความเห็นของทั้ง 3 กลุ่มประเภท จะได้บรรจุลงไปในรายงานเพื่อเสนอต่อสภาฯ ไปพิจารณาด้วย

“วันนี้มีความคืบหน้าอีกประการที่มีมติชัดเจนคือ ควรมีมาตรการในทางบริหารก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรม เช่น คดีต่างๆ ที่เป็นคดีเล็กค้างอยู่ในโรงพัก แต่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมาตรการทางบริหารสามารถใช้ได้ก่อนที่จะมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เช่น มาตรการสั่งไม่ฟ้อง มาตรการตามมาตรา 21 ของกฎหมายอัยการหรืออื่นๆ ที่จำเป็น ได้เพิ่มเข้าไป นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่าการนิรโทษกรรมมันจะเป็นไปได้ที่สุด รัฐบาลต้องรับเรื่องนี้ไปพิจารณา หรือเป็นเจ้าภาพ เพื่อช่วยกันเร่งรัด พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้เกิดขึ้น จะได้เกิดความสำเร็จในการประนีประนอม น่าอยู่น่าอาศัย ไม่ต้องทะเลาะกันเหมือนในอดีต” นายชูศักดิ์ กล่าว

นายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. กล่าวเสริมว่า ในวันพรุ่งนี้ (26 ก.ค.) กมธ.จะยื่นรายงานการประชุมต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม จากนั้นจะดำเนินการจัดพิมพ์รูปเล่มเพื่อแจกต่อสมาชิก คาดว่าใช้เวลาในการจัดพิมพ์ประมาณ 20 วัน นอกจากนี้ จะขอให้ทางวิปรัฐบาลเสนอให้นำขึ้นมาเป็นวาระพิจารณาเร่งด่วน เนื่องจากอยู่ในความสนใจของประชาชน

ด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ประเด็นเดียวกันในเวลาถัดมา โดยเป็น กมธ.สัดส่วนพรรคก้าวไกล ว่าพรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 แต่เนื่องจากมีความเห็นที่หลากหลายทำให้ กมธ.ต้องเสนอความเห็นของ กมธ.เพื่อให้สภาพิจารณา โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม กลุ่มที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเหมือนกับคดีอื่นๆ และกลุ่มที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข

ทั้งนี้ มีข้อเสนอด้วยว่า ระหว่างที่ไม่มีกฎหมายรัฐบาลควรเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมต่อสภาโดยเร็ว และระหว่างรอควรใช้กลไกของกฎหมายที่มีอยู่ โดยรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารต้องมีนโยบายอำนวยความยุติธรรมออกมา เช่น การชะลอฟ้อง ให้สิทธิการประกันตัว หรือจำหน่ายคดีชั่วคราว โดยประสานงานไปยังองค์กรในกระบวนการยุติธรรม

สำหรับข้อสรุปต่อประเด็นการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ใน กมธ.มีความเห็นต่างกัน ซึ่งได้หาแนวทางพอที่จะยอมรับกันได้ ทั้งนี้ ในรายงานมีความเห็นทุกฝ่าย และวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย อย่างรอบด้าน เพื่อให้สภาพิจารณาอย่างรอบด้าน ตนหวังว่าบรรยากาศในสภาที่จะพิจารณารายงานดังกล่าวจะเป็นไปอย่างมีวุฒิภาวะ เพราะหากสภาบรรยากาศไม่ปรองดอง ไม่รับฟังกัน การออกกฎหมายเพื่อลดความขัดแย้งอาจไม่บรรลุเป้าหมาย

Related Articles

Leave a Comment