ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตัดสินจำคุก 2 ปี “พิรงรอง รามสูต” ไม่รอลงอาญา ฐานกลั่นแกล้ง “ทรูดิจิทัล” ก่อนศาลให้ประกันตัวสู้คดี
เมื่อวันที่ 6 ก.พ.68 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาให้จำคุก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ส่งผลให้ทรู ดิจิทัล ไอดี ได้รับความเสียหาย
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากปี 2566 เมื่อมีผู้บริโภคร้องเรียนต่อสำนักงาน กสทช. กรณีแอปพลิเคชัน “ทรู ไอดี” มีการแทรกโฆษณาในช่องรายการทีวีดิจิทัล ซึ่งขัดต่อหลักมัสต์ แคร์รี่ (Must Carry) ที่ห้ามการแทรกโฆษณาในการออกอากาศช่องทีวีดิจิทัลบนแพลตฟอร์มอื่น กสทช.ได้ดำเนินการตรวจสอบ และมีการส่งหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตรวจสอบช่องรายการที่ออกอากาศผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
แม้หนังสือดังกล่าวจะไม่ได้ถูกส่งตรงถึงทรู ดิจิทัล ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. แต่บริษัทอ้างว่า ได้รับผลกระทบจากการแจ้งเตือนดังกล่าว เนื่องจากอาจส่งผลให้ผู้ได้รับใบอนุญาตระงับการเผยแพร่ช่องรายการของตนบนแพลตฟอร์มทรู ไอดี นำไปสู่การยื่นฟ้อง “พิรงรอง” ฐานกลั่นแกล้งและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ก่อนหน้านี้ ในเดือน เม.ย.67 ศาลมีคำสั่งรับฟ้อง และต่อมา “ทรู ดิจิทัล” ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ “ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง” หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว แต่ศาลปฏิเสธคำร้องดังกล่าวในเดือน พ.ค.67 โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์หรือกลั่นแกล้งทางธุรกิจ ตามที่บริษัทกล่าวหา
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาล่าสุดของศาลในวันนี้ ตัดสินให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา หากไม่มีการอุทธรณ์หรือขอประกันตัว “พิรงรอง” จะต้องพ้นจากตำแหน่งทันที ตามกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 7 (6) และ (7) ที่กำหนดให้กรรมการ กสทช. ที่ถูกตัดสินจำคุกและถูกคุมขังต้องพ้นจากตำแหน่ง
ทั้งนี้ การกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีโทษ จำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้าน “ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง” ยืนยันว่า การออกหนังสือของสำนักงาน กสทช. เป็นไปตามหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค และรักษากฎเกณฑ์ Must Carry รวมถึงดูแลลิขสิทธิ์ของผู้ประกอบการโทรทัศน์ดิจิทัล ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งผู้ประกอบการรายใดโดยเฉพาะ ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดวงเงินหลักทรัพย์ค้ำประกัน 120,000 บาท