“โฆษก ปชน.” ยันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหนนี้ไม่มีอะไรเกินเลยฉบับปี 63 ย้ำรัฐสภามีอำนาจทำ รธน.ใหม่ได้ โวเตรียม 30 ขุนพลชำแหละแก้ รธน. “พริษฐ์” บอกแม้ถูกตีตกจะหาทางผลักดันให้สำเร็จ จี้นายกฯ เลิกเหนียม! แสดงท่าทีเรื่องนี้
ที่รัฐสภา วันนี้ (11 ก.พ.) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 256 และหมวด 15/1 ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ว่า มีความสำคัญ 2 ด้านคือ เป็นโอกาสสำคัญที่เราจะเข้าใกล้สู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากที่สุด นับตั้งแต่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในปี 2564 ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการของประธานสภาฯ ไม่เคยบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมมาก่อน
“อีกหนึ่งความสำคัญคือ หากรัฐสภาไม่มีมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งในครั้งหน้า”
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า วาระการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่เป็นแค่ข้อเรียกร้องของพรรคแกนนำฝ่ายค้าน หรือเป็นนโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีเคยแถลงไว้ต่อรัฐสภา ฉะนั้นบุคคลที่ควรมีส่วนสำคัญในการที่จะพยายามช่วยผลักดันให้วาระดังกล่าวสำเร็จคือนายกฯ แต่ที่ผ่านมานายกฯ กลับไม่เคยสื่อสารเรื่องนี้ในที่สาธารณะ
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาประกบ มีเพียงของพรรคเพื่อไทย ฉะนั้นในอีก 2-3 วันนี้ อยากเห็นบทบาทของนายกรัฐมนตรีเข้ามาผลักดันวาระดังกล่าวให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น
นายพริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้เป็นการประชุม ครม.ครั้งสุดท้าย ก่อนจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็หวังว่าจะมีสัญญาณอะไรออกมา ส่วนที่มี สว.บางคนออกมาให้สัมภาษณ์เหมือนกับรัฐสภาไม่สามารถที่จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ ซึ่งหากไปเปิดดูคำวินิจฉัยเมื่อปี 2564 จะเห็นย่อหน้าสุดท้ายระบุว่า “รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้”
“หรือบางคนอาจจะบอกว่า แม้รัฐสภาจะสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ก็ต้องทำประชามติ ก่อนที่จะมีการพิจารณาในวาระที่ 1 ตนต้องบอกว่าแม้รัฐสภาจะมีมติเห็นชอบแต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที แต่ต้องทำประชามติก่อนหลังวาระ 3 ตามมาตรา 256 (8) และหลังจากที่ทำรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็จะต้องทำประชามติอีกรอบ” โฆษก ปชน. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคประชาชนเตรียมความพร้อมในการอภิปรายอย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า พยายามเต็มที่ในการที่จะสื่อสารกับสังคมและสมาชิกรัฐสภาเพื่อคลายทุกข้อสงสัย โดยจัดทัพคนที่จะอภิปรายไว้ประมาณ 30 คน แบ่งออกเป็น 3 โจทย์คือ โจทย์ที่หนึ่ง จะอธิบายให้เห็นชัดว่าทำไมควรต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือทำไมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จึงมีปัญหา, โจทย์ที่สองคือ จะเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร และโจทย์ที่สามคือ จะอภิปรายให้คลายข้อสงสัยและข้อกังวลระหว่างการอภิปราย
“แม้เราจะคาดการณ์การลงมติล่วงหน้าไม่ได้ แต่เมื่อเทียบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอเมื่อปี 2563 และที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการไปแล้ว และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีการพิจารณาในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ จะเห็นว่ามีเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกัน ไม่ได้มีการเสนอเนื้อหาอะไรที่เกินเลยไปกว่าที่เคยเสนอเมื่อปี 2563 เลย อย่างไรก็ตาม เรายินดีรับฟังทุกข้อทักท้วงและชี้แจงทุกข้อสงสัย” นายพริษฐ์ กล่าว
เมื่อถามว่า หากร่างดังกล่าวไม่ผ่านหรือมีการเสนอญัตติส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พรรค ปชน.จะทำอย่างไรต่อ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ต้องรอดูวันนั้น หากมีการเสนอญัตติให้ส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญก่อน ตนก็จะอภิปรายว่าไม่เห็นด้วย และขอยืนยันว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทุกอย่าง รวมถึงต้องถามกลับไปว่า คนที่จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้นคาดหวังที่จะได้รับผลอะไร อย่างไรก็ตาม แม้จะลงมติแล้วไม่ผ่าน พรรค ปชน.คงต้องมีการหาแนวทางต่อไปในการผลักดันที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่คำถามนี้ก็ควรที่จะทำรัฐบาลด้วย เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน