ฉ้อโกงปันสุข! “เคนโด้-เกรียงไกรมาศ” ผอ.รับเรื่องร้องเรียนสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่นฯ เดินหน้าช่วยเหยื่อ 5 พันราย ถูกบริษัท เคโฟร์ฯ จัดฉากนำดาราดังร่วมแก๊ง หลอกลงทุนซิมฯ-ตู้เติมเงิน สูญนับพันล้าน เหมือนเคส “ดิไอคอน” อ้างใบอนุญาต “กสทช.” เบิกทางตบทรัพย์! จี้ยักษ์หลับ กสทช.ต้องดูแลประชาชน “กมธ.ฟอกเงินฯ” นัดถก 20 ก.พ.นี้ ด้านผู้เสียหายฮึ่ม! รัฐปล่อยปละ ยื่นมีดให้โจร เอาไปหลอกเงินคนแก่-คนพิการ ชี้เคยบุกร้อง “กสทช.” สุดท้ายเงียบเป็นเป่าสาก!
นายเกรียงไกรมาศ พจนสุนทร หรือ “ดีเจเคนโด้” ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องร้องราวร้องทุกข์ สมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีบริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจจำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ และตู้เติมเงิน ชื่อ “เคธี่ปันสุข” และบริการเติมเงินค่าโทรศัพท์ค่าย K4 โดยอ้างว่าได้รับใบอนุญาตประเภทที่ 1 จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อีกทั้งยังมีอดีตดารา-พระเอกคนดังร่วมขบวนการ พร้อมเสนอผลตอบแทนที่สูง เช่นเดียวกับบริษัทดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด จนทำให้มีประชาชนจำนวนมากมีความเชื่อมั่นร่วมลงทุน แต่สุดท้ายกลับต้องสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งล่าสุดมีผู้เสียหายกว่า 5 พันราย และมีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 2 พันล้านบาท ทั้งนี้ ได้นำผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว

ผอ.ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่นฯ ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาคณะทำงานสมาคมฯ ได้มีความเห็นว่า ควรนำข้อร้องเรียนกรณีนี้เสนอต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กสทช. โดยล่าสุด กมธ.ป้องกันปราบปรามการฟอกเงินฯ ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ สผ ๐๐๑๘.๐๔/๑๑๒๙ วันที่ 7 ก.พ.2568 ลงนามโดยนายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ประธานกรรมาธิการฯ เชิญตนและผู้เสียหายร่วมประชุมกับ กมธ. เพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนและสอบหาข้อเท็จจริงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทเคโฟร์ฯ อีกทั้งยังมีตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กสทช. เข้าร่วมประชุมด้วย ในวันที่ 20 ก.พ.2568 เวลา 09.30 น. ชั้น 3 อาคารรัฐสภา
นายเกรียงไกรมาศ กล่าวว่า นับเป็นนิมิตรหมายอันดี ที่คณะกรรมาธิการฯ ให้ความสำคัญต่อความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนการทำความเข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาตนได้นำผู้เสียหายไปร้องเรียนกับ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ประชาชนคาดหวังว่าจะเป็นที่พึ่งได้ แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับเท่าไหร่ ซึ่งทาง กสทช.อ้างว่าไม่มีอำนาจ ทั้งที่บริษัท เคโฟร์ฯ อ้างว่าได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการประเภทที่ 1 จาก กสทช. จนมีประชาชนตกเป็นเหยื่อเป็นจำนวนมาก อีกทั้งธุรกิจที่บริษัท เคโฟร์ฯ ประกอบกิจการ ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่วยซิมการ์ดโทรศัพท์ ซึ่งอาจเป็นช่องว่างให้กับกลุ่มทุนจีนสีเทานำไปใช้ในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สร้างความเสียหายนับหมื่นล้านบาท และยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช.ได้เตือนประชาชนลงทุนธุรกิจตู้เติมเงิน K4 ที่มีการให้ผลตอบแทนสูง อาจเป็นลักษณะธุรกิจเครือข่าย โดยยืนยันว่ากิจตู้เติมเงินไม่ได้ใบอนุญาตจาก กสทช. หากสร้างความเสียหายหรือกล่าวอ้าง อาจพักใช้ใบอนุญาต


นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กสทช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ กรณีมีการร้องเรียน บริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด เพราะมีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามสำนักงาน กสทช. ตั้งแต่เดือน ก.พ.2567 เกี่ยวกับการลงทุนตู้เติมเงินที่ใช้ชื่อ “เคธี่ปันสุข” ที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยบริษัทมีการตั้งกลุ่มไลน์โฆษณาชักชวนให้ลงทุน และแจ้งกับสมาชิกในกลุ่มไลน์ว่า บริษัทได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน จึงมีประชาชนบางรายโทรศัพท์เข้ามาสอบว่าจริงหรือไม่ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงควบคู่ไปกับการออกข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ในเดือน ก.ค.2567 พร้อมทั้งมีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมสอบคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และได้ให้บริษัท เคโฟร์ฯ เข้าชี้แจง เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงตลอดปี 2567
สำนักงาน กสทช. ขอชี้แจงว่าธุรกิจของ K4 ที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตจาก กสทช. มีเพียงอย่างเดียว คือ ธุรกิจซิมการ์ด K4 โดยบริษัท เคโฟร์ฯ เป็นผู้รับใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 เพื่อให้บริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือบริการ MVNO แต่ธุรกิจอื่นของบริษัท เคโฟร์ฯ เช่น ธุรกิจตู้เติมเงิน ชื่อ “เคธี่ปันสุข” และบริการเติมเงินค่าโทรศัพท์ค่าย K4 ธุรกิจในส่วนนี้ ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. และไม่มีเรื่องการให้ใบอนุญาต เพราะตู้เติมเงินไม่เข้าข่ายเป็นกิจการโทรคมนาคม ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และไม่เข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช. ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544
ทั้งนี้ ขอฝากประชาชนพิจารณาการลงทุนหากมีการชักชวนลงทุนที่เกี่ยวกับตู้เติมเงิน และได้รับผลตอบแทนสูง ในลักษณะธุรกิจเครือข่าย ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาในอนาคตได้ และหากพบว่าบริษัทมีการกล่าวอ้างถึงใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการชักชวนประชาชนลงทุนตู้เติมเงิน หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกระทำดังกล่าวและเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ จะถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยสำนักงาน กสทช.จะติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมต่อไป


นายไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า สำนักงาน กสทช.ได้มีการตรวจสอบข้อมูลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของบริษัท เคโฟร์ฯ ที่ได้รับการจัดสรรเลขหมายจากผู้ให้บริการโครงข่ายพบว่า ปัจจุบันบริษัท เคโฟร์ฯ ได้รับจัดสรรประมาณ 331,000 เลขหมาย โดยช่วง 3 เดือนหลัง ได้แก่ เดือน ก.ย. 2567 มีเลขหมายที่ใช้งานจริงประมาณ 33,000 เลขหมาย มียอดการเติมเงินออนไลน์ประมาณ 1,286,000 บาท, เดือน ต.ค. 2567 มีเลขหมายใช้งานจริงประมาณ 42,000 เลขหมาย ยอดการเติมเงินออนไลน์ประมาณ 1,020,000 บาท
และเดือน พ.ย. 2567 ใช้งานจริงประมาณ 46,000 เลขหมาย ยอดการเติมเงินออนไลน์ 1,742,000 บาท ซึ่งหากนำยอดการใช้จ่ายจริงในเดือน พ.ย. มาคำนวณจะพบว่ามีการเติมเงินเฉลี่ยเพียงเลขหมายละ 38 บาท
ประกอบกับในปี 2566 บริษัท เคโฟร์ฯ ได้ชำระค่าธรรมเนียมจากการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้กับสำนักงาน กสทช. เพียง 7,000 บาท ซึ่งคำนวณจากรายได้ประกอบกิจการโทรคมนาคมประมาณ 5 ล้านบาท จึงมีข้อสังเกตว่าในการประกอบกิจการโทรคมนาคม ระหว่างปี 2566-2567 บริษัท เคโฟร์ฯ มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทอย่างต่อเนื่อง เป็นเงินจำนวนมาก จากเดิมที่มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นเพียง 5 ล้านบาทในปี 2565 เพิ่มทุนจดทะเบียนในปี 2567 เป็น 500 ล้านบาท การเพิ่มทุนจดทะเบียนดังกล่าวมีพื้นฐานรายได้จากการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. หรือเป็นการประกอบธุรกิจประเภทอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตของ กสทช. ซึ่งหากมีการประกอบธุรกิจประเภทอื่นจะต้องพิจารณาต่อไปว่าการประกอบธุรกิจดังกล่าวนั้น มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายจูงใจให้ผู้ใช้บริการของตน โดยมอบผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ใช้บริการอันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากการให้บริการโทรคมนาคม อันเป็นข้อห้ามตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตคมนาคมข้อ 12.17 และประกาศ กสทช. เรื่อง เงื่อนไขมาตรฐานใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ข้อ 16 ด้วยหรือไม่
และจากการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบศูนย์บริการของ K4 ของสำนักงาน กสทช. ภาค และสำนักงาน กสทช.เขต พบว่า ศูนย์บริการบางแห่งมีการปิดล็อกประตูเข้า-ออก บางแห่งพบว่ามีตู้เติมเงิน แต่มีสภาพที่ไม่พร้อมใช้งาน บางแห่งไม่พบตู้เติมเงินแต่อย่างใด และเมื่อโทรสอบถามได้รับแจ้งจากผู้ดูแลศูนย์บริการว่ายังคงเปิดให้บริการ และมีการขายซิมการ์ดอยู่
“ตั้งแต่เราได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งคอลเซ็นเตอร์ 1200 ,สายงานกิจการโทรคมนาคม ทั้งสำนักรับเรื่องร้องเรียนและใบอนุญาต และกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ทำงานกันแข็งขัน เราไม่ได้เพิกเฉย หรือนิ่งนอนใจ เพราะมีประชาชนโทรมาสอบถามว่าจริงหรือเปล่าที่ K4 ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. เพราะมีโฆษณาชักชวนลงทุนตู้เติมเงิน ซึ่งธุรกิจนี้ไม่ได้ใบอนุญาตจากเรา เจ้าหน้าที่ก็อธิบาย”
อย่างไรก็ตาม ทาง กสทช.ก็ยื่นเรื่องต่อดีเอสไอ สคบ. ปปง. ธปท. เพื่อให้แต่ละหน่วยงานดำเนินในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้น และอยากให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องว่าใบอนุญาตที่ กสทช.ให้ ไม่ได้เกี่ยวกับการชวนลงทุนตู้เติมเงิน หรือเอาธุรกิจสื่อสารไปทำธุรกิจลักษณะเครือข่ายได้