แนวร่วมงัดกันเอง! “สว.พันธุ์ใหม่” คาใจมีล็อบบี้ให้ถอนญัตติ “ป่วยทิพย์ชั้น 14” เหน็บถ้าไม่พร้อมไม่ต้องยื่น ถ้ายื่นแล้วต้องพร้อม “อังคณา” แจงข้อมูลไม่ครบถ้วนรอบด้าน ยันยื่นใหม่อีกรอบแน่ ด้าน “สว.ธนกร” ผู้ร่วมชงญัตติ ชี้ สว.อีก 2 คน ขอถอนการสนับสนุน ทำให้ญัตติล่ม!
ที่รัฐสภา วันนี้ (18 ก.พ.) ในการประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณาวาระการเสนอญัตติ เรื่องขอให้วุฒิสภาพิจารณาหาแนวทางปฏิบัติในการให้สิทธิแก่ผู้ต้องขังที่จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเสนอโดยนางอังคณา นีลไพจิตร สว. และคณะ
ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่วาระ นางอังคณาได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าขอถอนญัตติดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากยังมีความไม่พร้อม และไม่รอบคอบของข้อมูลที่มี ทำให้ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. อภิปรายโต้แย้งไม่เห็นด้วยกับการถอนญัตติดังกล่าว เนื่องจากได้เตรียมการอภิปรายไว้แล้ว พร้อมเรียกร้องให้ผู้เสนอญัตติอธิบายเหตุและผล เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าถูกล็อบบี้ให้ถอนญัตติ
“ขอให้ผู้เสนอญัตติอภิปรายให้เห็นถึงเหตุผล มากกว่าความไม่พร้อม หากไม่พร้อมต้องไม่ยื่น หากยื่นแล้วต้องพร้อม ที่อ้างว่าไม่พร้อม แต่เมื่อเปิดอภิปรายเพื่อให้ สว.แสดงความเห็นและข้อมูล ท่านไม่พร้อมไม่เป็นไร แต่ สว.พร้อม การถอนญัตติดังกล่าวสังคมสงสัยว่า ญัตติที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม สร้างความยุติธรรมในสังคมให้กับผู้ต้องขังอย่างยิ่ง ดังนั้นขอเหตุผลที่มากกว่าไม่พร้อม” น.ส.นันทนา กล่าว
ต่อมา นางอังคณาชี้แจงว่า เหตุผลที่ถอนนั้น ยกตัวอย่างของความไม่เท่าเทียมอยากมีข้อมูลมากกว่านี้ เช่น กรณีของผู้ต้องขังที่อดอาหารปะท้วงและเสียชีวิต ยังขาดข้อมูลการชันสูตรศพ และข้อมูลของครอบครัว หากมีข้อมูลไม่ครบถ้วนอาจทำให้ข้อมูลไม่รอบด้าน
และขณะนี้ เรื่องการตรวจสอบนักโทษที่ได้สิทธิรักษาตัวนอกเรือนจำ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบอยู่ ดังนั้นต้องใช้ความระมัดระวัง หากมีข้อมูลไม่เพียงพอ จะทำให้ข้อมูลต่อสาธารณะที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้มีระเบียบของฑัณฑสถาน ที่ให้ผู้ป่วยต้องอยู่ในห้องขัง เช่น ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ต้องใส่เครื่องหายใจ และตอบสนองไม่ได้ต้องอยู่ในเรือนจำ ระเบียบดีแต่ต้องไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้จะเสนอญัตติดังกล่าวกลับอีกครั้ง
ทำให้ น.ส.นันทนา กล่าวว่า จากคำชี้แจงวิญญูชนพึงพิจารณาได้ว่าสมเหตุสมผลกับการถอนญัตติหรือไม่ ฟังแล้วไม่เห็นด้วยกับการถอนญัตติดังกล่าว
ทั้งนี้ นายธนกร ถาวรชินโชติ สว. ชี้แจงด้วยว่า ตนฐานะผู้ร่วมเสนอญัตติ และ สว.อีก 2 คน ได้ขอถอนการสนับสนุนญัตติดังกล่าว ทำให้เป็นเหตุต้องถอดถอนญัตติดังกล่าวต่อที่ประชุมวุฒิสภา ทั้งนี้เข้าใจว่า นางอังคณาจะเสนอญัตติดังกล่าวอีกรอบ
โดยนางอังคณา ชี้แจงว่า ตนรับฟังผู้ร่วมเสนอญัตติ ว่าเป็นการเขียนญัตติที่ไม่รอบคอบ ดังนั้นจึงต้องแก้ไข ส่วนการอธิบายไปแล้ว วิญญูชนพิจารณาได้หรือไม่ ขอให้สาธารณะพิจารณา ทั้งนี้ สว.สามารถเสนอได้ แต่การทำงานของตนหากทำไม่รอบคอบกังวลจะกระทบสิทธิของบุคคลอื่น
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติ พบว่า สว. 138 เสียง เห็นชอบให้ถอนญัตติดังกล่าว ขณะที่ 7 เสียงไม่เห็นด้วย และมีผู้งดออกเสียง 7 คน