Home Feature สตง.เล็งใช้ MIRA ประเมินเสี่ยง สกัดไซต์ก่อสร้างถล่ม! แย้ง ‘สุริยะ’ ปมจ้าง ‘สภาวิศวกร’ สอบซ้ำ

สตง.เล็งใช้ MIRA ประเมินเสี่ยง สกัดไซต์ก่อสร้างถล่ม! แย้ง ‘สุริยะ’ ปมจ้าง ‘สภาวิศวกร’ สอบซ้ำ

by admin

ผู้ว่าฯ สตง.สั่งด่วน ส่งทีมลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ ยกเคส “สะพานพระราม 2 ถล่ม” เป็นต้นแบบ ยึดแนวทางสากลสร้างโมเดลป้องกันในอนาคต เล็งใช้ MIRA ประเมินความเสี่ยง-ป้องอุบัติเหตุซ้ำซาก พร้อมเสนอรัฐบาลบังคับใช้ “ทุกโครงการรัฐ” มูลค่า 500 ล้านขึ้นไป “โฆษก สตง.” ลั่นเห็นต่าง “สุริยะ” จ้างสภาวิศกรฯ ชี้ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินหลวงว่าจ้างสอบซ้ำ ชงเก็บ “หลักประกัน” รับมือรัฐถูกชาวบ้านฟ้องเรียกเงิน

นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ นายสุทธิ สุนทรานุรักษ์ ที่ปรึกษาตรวจเงินแผ่นดิน ร่วมแถลงข่าวภายหลังประชุมร่วมกับ นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง

โฆษก สตง. ระบุถึงกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในการก่อสร้างทางด่วนถนนพระราม 2 เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ สตง.ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้าได้ศึกษาแนวทางการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของโครงการขนาดใหญ่จากองค์กรตรวจเงินแผ่นดินในต่างประเทศ อาทิ เกาหลีใต้, เนเธอร์แลนด์, สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย โดยมีแนวทางการตรวจสอบที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลความปลอดภัยในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของไทย

พร้อมกันนี้ ผู้ว่าฯ สตง.ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งถอดบทเรียนและสร้างโมเดลป้องกันการเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ในอนาคต โดย สตง.ได้ทำการศึกษาแนวทางจาก สตง.ในหลายๆ ประเทศ ซึ่งสรุปแนวทางเอาไว้คือ

1. การประเมินความเสี่ยงโครงการผ่านเครื่องมือที่เป็นระบบ ทั้งนี้ ทางเกาหลีใต้ได้พัฒนา Risk Analysis Model ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อคำนวณค่าความเสี่ยงและจัดระดับความเสี่ยงของโครงการขนาดใหญ่ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความซับซ้อนของโครงการ ประวัติผู้รับเหมา ประวัติอุบัติเหตุ และการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย และปัจจุบัน สตง.ไทย ได้นำแนวทางนี้มาพัฒนาเป็น MIRA (Mega Project Integrity Risk Assessment) ซึ่งเป็นระบบประเมินความเสี่ยงที่สามารถช่วยกำหนดระดับความเข้มข้นในการตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ โดยจะนำมาใช้กับโครงการก่อสร้างสะพานพระราม 2 เป็นการนำร่อง

2. การสอบทานคุณสมบัติของผู้รับเหมาอย่างละเอียด โดยสหรัฐอเมริกาใช้แนวทาง Past Performance Review เพื่อช่วยหน่วยงานรัฐในการสอบทานประวัติของผู้รับเหมาก่อนอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ โดยเน้นพิจารณาประวัติการทำงานก่อนหน้า อุบัติเหตุในอดีต และการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย

3. การนำเทคโนโลยีมาช่วยประเมินความปลอดภัย ซึ่งทางเนเธอร์แลนด์ได้นำเทคโนโลยี 3D โมเดลลิ่ง และซิมมูเลชั่น มาใช้ในการตรวจสอบความมั่นคงของโครงสร้างก่อนเริ่มการก่อสร้าง  เพื่อจำลองสถานการณ์และระบุจุดเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ

4. การส่งเสริมความโปร่งใสผ่านรายงานความปลอดภัย ทั้งนี้ ทางออสเตรเลียแนะนำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ รายงานความคืบหน้าด้านความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

“สตง.ให้ความสำคัญกับประเด็นความปลอดภัยในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ โดยเน้นการนำแนวทางสากลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาปรับใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการตรวจสอบ พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” โฆษก สตง.ระบุ

ทั้งนี้ การถอดบทเรียนของโครงการก่อสร้างถนนพระราม 2 ไม่เพียงจะนำระบบ MIRA มาใช้เพื่อประเมินความเสี่ยง และบริหารจัดการความปลอดภัย หากยังจะนำไปใช้กับโครงการอื่นๆ ของภาครัฐที่มีมูลค่าตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป รวมถึงโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และไม่เฉพาะกับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เท่านั้น หากโครงการไหนมีความเสี่ยงต่อความสูญเสียของชีวิตผู้คนและเงินงบประมาณแผ่นดิน จะต้องนำแนวทางนี้ไปใช้เช่นกัน

“เบื้องต้น สตง.หวังว่าการถอดบทเรียนและสร้างโมเดลป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 30 วัน หรือหลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเมื่อได้โมเดลแล้ว ทางผู้ว่าฯ สตง.จะทำหนังสือไปถึงฝ่ายบริหารในคณะรัฐบาลได้พิจารณา เพื่อประชุมและสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ เชื่อว่าหากทุกฝ่ายยึดแนวทางดังกล่าว ปัญหาที่เคยเกิดคงจะคลี่คลายลงได้” โฆษก สตง.กล่าวและว่า

หนึ่งในแนวทางที่มีการเสนอในที่ประชุม คือ การกำหนดหลักประกันในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูง เหมือนที่ต่างประเทศมีการกำหนดไว้ในอัตรา 10-15% ของมูลค่าโครงการ ส่วนในไทยจะเป็นอัตราเท่าใดนั้น ขึ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมาร่วมประชุมหารือเพื่อกำหนดอัตราที่เหมาะสมต่อไป โดยหากมีการกำหนดหลักประกันขึ้นมา ภาครัฐอาจต้องขยายสัดส่วนกำไรสุทธิให้กับภาคเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนราว 17-18% พร้อมกับสร้างทางเลือกในการทำหลักประกันแทนเงินสด เพื่อไม่เป็นการปิดช่องทางดำเนินงานของภาคเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการทั่วไป ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวสามารถลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่ภาคประชาชน ซึ่งได้รับความเสียหายและเกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากการก่อสร้างโครงการของรัฐ ทำการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ในอนาคต

นายสุทธิพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า จากข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุกับโครงการก่อสร้างสะพานพระราม 2 นับแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีมากถึง 10 เหตุการณ์ ซึ่งเป็นอุบัติเหตุขนาดใหญ่ และส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงผู้ปฏิบัติงาน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ อุบัติเหตุจากโครงสร้าง, อุบัติเหตุจากเครื่องจักรและอุปกรณ์หนัก และอุบัติเหตุจากปัจจัยแวดล้อม ซึ่งทุกกลุ่มล้วนมีคนเกี่ยวข้องมากที่สุด หากทำให้คนมีความตระหนักรู้และรับผิดชอบกับงานที่ทำแล้ว เชื่อว่าปัญหาคงจะมีน้อยลง

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างสะพานพระราม 2 นั้น สตง.ได้ลงพื้นที่ไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยการตรวจสอบเป็นไปเพื่อมุ่งเน้นบริหารจัดการความปลอดภัย โดยยึดแนวทาง MIRA จึงไม่จำเป็นจะต้องทำงานร่วมกับ “กลุ่ม 4 ป.” (ป.ป.ง.-ป.ป.ช.-ป.ป.ท. และตำรวจ บก.ปปป.) ที่ได้มีการลงนามเอ็มโอยูไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ หากนายกรัฐมนตรีจะให้ สตง.ประสานงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สตง.ก็พร้อมดำเนินการ เนื่องจากกฎหมายกำหนดหน้าที่ของ สตง.เอาไว้แล้ว เมื่อได้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินงบประมาณแผ่นดิน ก็จะต้องส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงดีเอสไอ หากมีข้อสั่งการลงมาจากนายกรัฐมนตรี ส่วนกรณีที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม แจ้งว่า กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดจะว่าจ้างให้สภาวิศวกรมาช่วยตรวจสอบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่นั้น

โฆษก สตง. เห็นว่า ในต่างประเทศ สมาชิกสภาวิศวกรก็เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ โดยภาครัฐไม่ต้องเสียเงินเป็นค่าจ้าง เพราะเหมือนเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของสภาวิศวกรอยู่แล้ว

ส่วนตัวไม่เห็นด้วย หากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมจะต้องใช้จ่ายงบประมาณในส่วนนี้เพื่อว่าจ้างสภาวิศวกรมาช่วยตรวจสอบดูแลอีกชั้นหนึ่ง เพราะนั่นเท่ากับว่าฝ่ายบริหารไม่เชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายข้าราชการที่เกี่ยวข้อง แต่หากยังคงยืนยันและใช้จ่ายงบประมาณที่เหมาะสม แล้วสามารถลดปัญหาและลดความสูญเสียได้ ก็สามารถทำได้

Related Articles