ได้ไปต่อ สภาฯ โหวต “ไว้วางใจ” นายกฯ แพทองธาร เสียงท่วม 319 ต่อ 162 เสียง เช็กเสียงฝ่ายค้าน มีเสียงแตก! ปชน.ขาด 2 “งูเห่า” โผล่พรึ่บ พปชร. 1-ไทยสร้างไทย 5 “สส.ปูอัด” หนุนอิ๊งค์ ฟากรัฐบาล “เฉลิม” ชิ่งสภาฯ 2 สส.พรรคร่วมฯ ลาป่วย ขณะที่รุ่นเก๋า ปชป. “งดออกเสียง” ส่วน “ภูมิใจไทย” ไม่แตกแถว! โหวตหนุนพร้อมเพรียง
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียง 319 ต่อ 162 งดออกเสียง 7 เสียง หลังพรรคร่วมฝ่ายค้านใช้เวลาตลอด 2 วันที่ผ่านมา (24-25 มี.ค.) ในการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยใช้เวลาไปทั้งสิ้น 32 ชั่วโมง 32 นาที
ทั้งนี้ การลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จะเป็นการเสียบบัตรลงคะแนน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 วรรค 4 ต้องอาศัยเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ หรือ 247 เสียง จาก สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 493 คน
สำหรับการลงมติในครั้งนี้ มีผู้ลงมติจำนวน 487 คน “เห็นด้วย” กับญัตติไม่ไว้วางใจฯ 162 เสียง และ “ไม่เห็นด้วย” กับญัตติฯ 319 เสียง งดออกเสียง 7 ถือว่าผลการลงมติไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ เป็นอันว่าที่ประชุมลงมติ “ไว้วางใจ” น.ส.แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี
รุ่นเก๋า ปชป. งดออกเสียง 4
ภายหลังเสร็จสิ้นการลงมติ มีรายงานว่า พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล มี สส.จำนวน 25 คน โดยมี 21 เสียงที่โหวตไว้วางใจนายกฯ ขณะที่ 4 คน “งดออกเสียง” ซึ่งต่อมา นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค ปชป. ชี้แจงว่า “ตอนแรกจะเสนอให้เป็นมติพรรค แต่ทั้ง 4 คนขอใช้เอกสิทธิ์” ทั้งนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ ใช้เอกสิทธิ์ สส.ได้ แต่กฎหมายอีกหลายฉบับใช้เอกสิทธิ์ไม่ได้ ต้องเป็นมติพรรคเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 4 เสียง ก็สนับสนุนร่างกฎหมายของรัฐบาลมาโดยตลอด สำหรับ 4 คนที่งดออกเสียงนั้น ประกอบด้วย นายชวน หลีกภัย, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา
‘งูเห่า’ โผล่พรึ่บ! โหวตสวนฝ่ายค้าน ‘พรรคส้ม’ ขาด 2
ขณะที่ ในการลงมติ 162 เสียงของ สส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่า พรรคประชาชน (ปชน.) ที่มีทั้งหมด 143 คน ลงมติไปในทิศทางเดียวกันอย่างพร้อมเพรียง 141 เสียง เห็นด้วยกับญัตติฯ คือไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ขาดเพียง น.ส.วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ และนายสิริน สงวนสิน สส.กทม. ที่แจ้งลาป่วยอยู่โรงพยาบาล
ทั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐ ที่มี สส.ทั้งหมด 20 คน ลงมติไม่ไว้วางใจไปในทิศทางเดียวกัน 19 คน มีเพียง น.ส.กาญจนา จังหวะ สส.ชัยภูมิ ที่ลงมติไว้วางใจ สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ที่ได้ถูกพรรคพลังประชาชนปลดออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค และแสดงตนชัดเจนว่า จะโหวตไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร
ส่วนพรรคไทยสร้างไทย ที่มี สส.ทั้งหมด 6 คน มีเพียงนายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด เพียงคนเดียวที่ลงมติไม่ไว้วางใจ ส่วนอีก 5 คน อาทิ นางรำพูน ตันติวณิชชานนท์ สส.อุบลราชธานี, นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ, นางสุภาพร สลับศรี สส.ยโสธร, นายหรั่ง ธุระพล สส.อุดรธานี และนายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ สส.อุดรธานี ลงมติ “ไว้วางใจ” ขณะที่ฝ่ายค้านของพรรคอื่นๆ นั้น นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยก้าวหน้า ได้ลงมติไว้วางใจเช่นกัน ส่วนนายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ลงมติไม่ไว้วางใจ
‘ภูมิใจไทย’ ไม่แตกแถว! ‘เฉลิม’ ชิ่งสภาฯ
ขณะที่ สส.พรรคร่วมรัฐบาล 319 เสียง ที่ลงมติไว้วางใจ โดยพรรคเพื่อไทย ทั้งหมด 142 คน ลงมติไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ไปในทิศทางเดียวกันเช่นกัน 140 เสียง มีเพียง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ ที่ไม่มาแสดงตน และไม่ปรากฎการลงมติ ซึ่งได้แจ้งต่อที่ประชุมมาก่อนหน้านี้แล้วว่า จะไม่เดินทางมาร่วมลงมติ กับนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ที่งดออกเสียง
ด้านพรรคภูมิใจไทย ทั้งหมด 69 คน ลงมติไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร อย่างพร้อมเพรียง 68 เสียง มีเพียงนายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานสภาฯ คนที่ 2 งดออกเสียง
สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่มี สส.จำนวน 36 คน ลงมติไว้วางใจ 35 คน มีเพียงนายสุพล จุลใส สส.ชุมพร ที่ไม่แสดงตน และไม่ปรากฎการลงมติ ซึ่งได้แจ้งลาป่วยอยู่โรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีนายอนุรักษ์ จุรีมาศ สส.ร้อยเอ็ด พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ไม่มาลงมติ เนื่องจากแจ้งลาป่วยเช่นเดียวกัน