สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้คนจำนวนมากรวมตัวชุมนุมในนครลอสแอนเจลิสของสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ใน 1,200 เมือง ครบทั้ง 50 รัฐทั่วสหรัฐฯ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อต่อต้านหลายนโยบายของทรัมป์ ที่กำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับทั้งชาวอเมริกันทั้งประเทศและผู้คนทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
การชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมประท้วงต่อต้านทรัมป์ใน 1,200 เมือง ครบทั้ง 50 รัฐทั่วสหรัฐฯ ถือเป็นการชุมนุมประท้วงต่อต้านทรัมป์ของชาวอเมริกันครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ทรัมป์เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยสอง เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา การชุมนุมประท้วงจุดใหญ่ๆ เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงวอชิงตัน ดีซี ที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมที่อุทยาน เนชั่นแนล มอลล์ มากกว่า 20,000 คน รวมถึงที่นครนิวยอร์ก แอตแลนตา ดัลลัส ชิคาโก เดนเวอร์ ลอสแอนเจลิส และบอสตัน
ผู้ชุมนุมหลายคนบอกว่าตั้งใจมาแสดงพลังต่อต้านนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ ไล่ตั้งแต่การปราบปรามผู้อพยพ กระทรวงประสิทธิภาพ หรือ DOGE ที่มี อีลอน มัสก์ เป็นผู้นำ มาตรการรีดภาษีสินค้านำเข้าต่างประเทศในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปจนถึงการยุบกระทรวงและหน่วยงานหลายแห่ง หลายคนถือโอกาสแสดงออกซึ่งการประท้วงต่อต้าน อีลอน มัสก์ รวมถึงโบกธงสนับสนุนยูเครนและปาเลสไตน์ไปพร้อมๆ กันด้วย
นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมในหลายเมืองยังแสดงป้ายที่มีข้อความให้ทรัมป์ อย่าแตะต้องแคนาดา และกรีนแลนด์ อันหมายถึงการที่ทรัมป์แสดงออกชัดเจนว่าอยากให้แคนาดาเข้ามาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ รวมถึงอยากได้เกาะกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์กมาเป็นของอเมริกา

นอกจากที่สหรัฐฯ แล้ว ยังมีผู้คนออกมารวมตัวชุมนุมประท้วงต่อต้านทรัมป์ในต่างประเทศ ทั้งในเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ แคนาดา และเม็กซิโก ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน เป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องทั่วโลกเพื่อร่วมประท้วง Hands Off หรือ “หยุดก้าวก่าย” เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อทรัมป์ และอีลอน มัสก์ ผู้เป็นพันธมิตร และหัวหอกในการนำความพยายามลดขนาดและตรวจสอบการทุจริตในหน่วยงานรัฐ เช่นเดียวกับการขยายอำนาจประธานาธิบดี เนื่องจากเห็นว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์นับตั้งแต่ทรัมป์สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง เศรษฐกิจ และสังคมของสหรัฐฯ และหลายประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก
การออกมาให้คำมั่นของทรัมป์ มีขึ้นหลังเกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลก หลังเขาประกาศมาตรการภาษีศุลกากรแบบครอบคลุมกับทุกประเทศและดินแดนทั่วโลก เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ขณะที่ขีดระดับความกลัวของตลาดหุ้นวอลล์ สตรีท ขึ้นไปอยู่ระดับสูงที่สุดในรอบ 5 ปี ส่วนบรรดาผู้บริหารด้านการเงินต่างแสดงความตกใจและเป็นห่วงเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ
