นายกฯ สั่งทบทวนตรวจอาคารรอบใหม่ “ภาคเอกชน-ราชการ” ทั้งหมด จ่อรื้อเกณฑ์อนุมัติก่อสร้าง-ทบทวนความปลอดภัย เพิ่มมาตรการรองรับ “แผ่นดินไหว” ดึง 4 สถาบัน-กรมโยธาฯ ร่วมทำโมเดลหาสาเหตุตึก สตง.ถล่ม ขีดเส้น 90 วัน ลั่นต้องมีผู้รับผิดชอบแน่นอน พร้อมตอบปมวิ่งเต้นย้าย รมว.อุตสาหกรรม
วันนี้ (8 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมติดตามผลการสืบสวนข้อเท็จจริง อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว พร้อมรับฟังรายงานจากคณะกรรมสอบสืบสวนข้อเท็จจริงฯ ว่า วันนี้ได้หลายข้อสรุป คือ ขอให้ความมั่นใจประชาชนกฎหมายที่ออกมาเกี่ยวกับการสร้างอาคาร สามารถรองรับในเรื่องแผ่นดินไหวแบบที่เกิดขึ้นมาได้ ถ้าเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงเท่าเดิมก็จะไม่ทำให้ตึกเกิดการถล่ม
แต่ตึกเหล่านั้นต้องทำตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งเราจะเห็นว่าไม่มีตึกไหนจะมีความเสียหายที่มากมีเรื่องของการกะเทาะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่ ตึกที่ถล่มมีเพียงตึกเดียวที่เราเอามาดูในเรื่องข้อเท็จจริงว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง และเมื่อสักครู่พอได้คุยกันก็ได้ข้อสงสัยหลายเรื่อง เป็นข้อสงสัยที่ค่อนข้างสำคัญอย่างมากตั้งแต่เริ่มต้นและในกระบวนการด้วย และอีกอย่างที่ต้องทำคือว่าไซต์งานก่อสร้างที่เกิดเหตุยังต้องใช้เวลาในการเคลียร์พื้นที่ 1 เดือน
นายกฯ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมฯ ได้ขอว่าจะใช้ 4 สถาบันการศึกษา รวมถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อทำโมเดลจำลองเหตุการณ์ตึกถล่มที่เกิดขึ้นจริง เพื่อที่จะให้รับทราบว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ตึกถล่ม เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับชีวิตคน ทั้งนี้ รัฐบาลติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และพูดคุยกับคณะทำงานแล้วบอกว่าโมเดลที่จะทำจากแต่ละสถาบันใช้เวลาประมาณ 90 วัน ตนจึงบอกว่าเร็วกว่านี้ได้หรือไม่ ซึ่งความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดและมีหลายข้อที่ทำให้ตึกถล่ม เพื่อความแน่ชัด ผู้เกี่ยวข้องจะใช้เวลาประมาณ 90 วัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือและความโปร่งใสในการตรวจสอบ ให้ประชาชนได้เข้าใจว่าเราใช้วิศวกรจาก 4 สถาบันการศึกษา เข้ามาทำแยกกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและมั่นใจได้
นายกฯ กล่าวอีกว่า ตึกทุกตึกที่สร้างตามกฎหมายที่กำหนดขอบเขตครอบคลุมมาเป็นอย่างดี ไม่อยากให้ประชาชนต้องหวาดกลัวว่าตึกของเราจะเป็นอย่างไร เราจะเห็นเลยว่าทุกตึกที่เกิดแผ่นดินไหวไม่มีตึกถล่มมีเพียงจุดเดียวเท่านั้น ตนขอให้ความเชื่อมั่น
อย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยที่ได้รับมาในตอนนี้ รอให้ชัดเจนกว่านี้ก่อน และอีกอย่างเมื่อเคลียร์พื้นที่ไซต์ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้วก็จะได้ข้อมูลเพิ่มเติม และเก็บข้อมูลไปพร้อมกันๆ นอกจากนี้ จะต้องทบทวนกระบวนการตรวจสอบเรื่องของตึกและอาคารใหม่ทั้งหมด ทั้งของเอกชนและของราชการ ซึ่งตนบอกว่าเคยสร้างตึกในภาคเอกชนมีข้อต้องได้รับการอนุมัติมากมาย เราต้องมาทบทวนกันใหม่ว่าการอนุมัติเรานั้นปลอดภัยใช่หรือไม่ กระบวนการต่างๆ เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ และอาคารของราชการ เราต้องดูต้องเพิ่มอะไรเข้าไปหรือไม่ แต่อาคารของเอกชนและราชการ สามารถเพิ่มในเรื่องมาตรการรองรับแผ่นดินไหวเข้าไปเพิ่มได้ด้วย
“ฉะนั้นการทบทวนกระบวนการเหล่านี้ ทำให้คล่องตัวและตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น ไม่อยากให้มีกระบวนการมากมายเกินไปและไม่เกิดประโยชน์ ส่วนการจะเพิ่มมาตรการอย่างไรเพื่อรองรับตึกที่สร้างในอนาคตไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก นี่คือ ข้อสรุปจากการประชุมฯ” น.ส.แพทองธาร กล่าว
เมื่อถามว่ามีข้อสงสัยเรื่องคุณภาพเหล็ก ที่นำมาใช้ก่อสร้างได้มีการตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ว่ามีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหน นายกฯ กล่าวว่า ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย อันนี้เป็นข้อมูลเรื่องของวัสดุต่างๆเกี่ยวข้องแน่นอน โดยสถาบันต่างๆ มาช่วยกันดูประกอบ ว่าสิ่งใดบ้างที่ทำให้เกิดเหตุนี้ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดในเรื่องโครงสร้าง จะให้ทางคณะกรรมการวิชาชีพชี้แจง
“ผลการตรวจสอบสาเหตุจะต้องมีผู้รับผิดชอบแน่นอน และเราได้ดูแล้วว่าระหว่างทางกว่าที่จะได้โมเดลจำลองจำลองเหตุการณ์ตึกถล่มใน 90 วัน จะดูว่ามีสิ่งใดบ้างที่ทำแล้วผิดกฎหมายบ้าง หรือหากมีการผิดมาตรฐานหรือผิดกระบวนการ ก็ผิดกฎหมายอยู่ดี เรื่องไหนที่ผิดกฎหมายจะดำเนินคดีควบคู่กันไปอยู่แล้ว แต่ผลสรุป 100 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้ทราบว่าทั้งตึกเป็นเพราะอะไรจึงเกิดการถล่ม”
เมื่อถามอีกว่าจะมีการดำเนินการกับบริษัทที่ผลิตเหล็กหรือไม่ ภายหลังจากที่ออกมาข่มขู่จะย้าย รมว.อุตสาหกรรม ที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
นายกฯ ย้อนถามว่า “ใครจะย้ายรัฐมนตรีอุตสาหกรรม บริษัทจะย้ายรัฐมนตรีอาจจะไม่ถูกต้องในเรื่องกฎหมายหรืออำนาจ ความจริงรัฐมนตรีที่รับผิดชอบทุกคน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ไม่มีใครรับได้กับเรื่องการวิ่งเต้น และไม่สนับสนุนเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งตอนยังไม่เคยพูดคุยกับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับกระบวนการก็ต้องพูดคุย