Home Feature วันแรงงาน 1 พ.ค.นี้ ไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำ!! บอร์ดไตรภาคีไม่เคาะ นายจ้างยื้ออ้างสหรัฐฯ ขึ้นภาษี

วันแรงงาน 1 พ.ค.นี้ ไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำ!! บอร์ดไตรภาคีไม่เคาะ นายจ้างยื้ออ้างสหรัฐฯ ขึ้นภาษี

by admin

“บอร์ดไตรภาคี” ไม่เคาะค่าแรงขั้นต่ำ “นายจ้าง” อ้างสหรัฐฯ ขึ้นภาษี หารือใหม่เดือนหน้า ส่งผล 1 พ.ค.นี้ แรงงานไม่ได้เงินเพิ่ม “ปลัดแรงงาน” เล็งปรับกลุ่มท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ ชุดที่ 22 (รักษาการ) หรือ “บอร์ดไตรภาคี” ว่า ที่ประชุมมีวาระพิจารณาเรื่องการปรับทบทวนอัตราค่าจ้างในปี 2568 ซึ่งได้พูดคุยกว่า 3 ชั่วโมง ที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกันฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง จึงเป็นที่มาว่า ขอให้ฝ่ายเลขาฯ ที่ประชุม กลับทำข้อมูลเพิ่มเติม และนำกลับมาพิจารณา รายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เข้าที่ประชุมในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งยังไม่ได้มีการกำหนดวันประชุม

ทั้งนี้ การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังคงเป็นไปตามสูตรการคำนวณและเน้นในประเภทกิจการไม่กระทบภาวะเศรษฐกิจ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นนายจ้าง นายบุญสงค์ กล่าวว่า นายจ้างเห็นว่าข้อมูลที่ชี้แจงยังไม่เพียงพอ ควรทำรายละเอียดให้ชัดเจนเพียงพอ อีกทั้งนายจ้างยังเห็นว่า ไม่ควรที่จะขึ้นค่าแรงในช่วงนี้ เนื่องจากอยู่ในภาวะเศรษฐกิจ ที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากำลังขึ้นภาษี แต่ได้ชี้แจงว่ามันไม่เกี่ยวกัน เนื่องจากกิจการที่มีการเสนอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ไม่เกี่ยวกับการขึ้นภาษี ไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีในครั้งนี้อยู่แล้ว เช่น กิจการเกี่ยวกับการให้บริการ การท่องเที่ยว เป็นต้น ส่วนที่กระทบเกี่ยวข้องกับการผลิต โดยเฉพาะยานยนต์

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2567 มีการปรับเพิ่มค่าจ้างหลายรอบหนึ่ง ในกลุ่มกิจการที่ได้รับการปรับค่าจ้างขึ้นก็คือบริการการท่องเที่ยว ดังนั้นทำไมครั้งนี้จึงพิจารณาให้กลุ่มนี้อีกครั้ง นายบุญสงค์ กล่าวว่า การท่องเที่ยวที่ได้รับการปรับครั้งที่แล้วเป็นกลุ่มโรงแรม 5 ดาว แต่ปัจจุบันไม่มีดาวแล้ว จึงเห็นว่ากิจการท่องเที่ยวในปัจจุบันมันสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ เพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ส่วนในรายละเอียดขออนุญาตหารือกับคณะกรรมการก่อนที่จะกำหนดรายละเอียด ประเภทที่จะได้รับการปรับเพิ่มค่าแรง

“ที่จะมีหารือการปรับเพิ่มอยู่ที่ประมาณ 400 บาท และน่าจะไม่ทันวันแรงงาน 1 พ.ค.2568 ซึ่งไม่หนักใจที่เลื่อนหลายครั้ง เพราะดูจากสภาพเศรษฐกิจว่า คนใช้แรงงานควรจะได้รับการดูแลค่าครองชีพที่เหมาะสม ไม่ได้ดูว่าใครกำหนดหรือชี้นำ หรือการเมืองกำหนดไม่มี”

ส่วนเรื่องของการเยียวยานายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าแรงที่ประชุมก็ได้มีการพูดคุยเช่นเดียวกันแต่ในรายละเอียด ขอให้ตกผลึกในที่ประชุมก่อนจึงขอยังไม่เปิดเผยในตอนนี้

Related Articles