“แลนด์บริดจ์” ยังไปต่อ!! “มนพร” จ่อชงกฎหมาย SEC เข้า ครม. คาดเริ่มประมูลปีนี้ “สนข.” แจงปมครหา “ขายชาติ” เปิดเอกชนยื่นประมูลสัญญาเดียว ได้สิทธิดำเนินการ 3 ส่วน “ท่าเรือน้ำลึก-มอเตอร์เวย์-รถไฟ” นำร่องเฟสแรก วงเงิน 5 แสนล้าน ชี้เวนคืนที่โดยรัฐบาล ที่ดินยังเป็นของคนไทยไม่ได้ยกให้ใคร แต่ให้ต่างชาติมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนที่เหลือพร้อมเปิดให้นักลงทุนกลุ่มอื่น ตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ 4 จังหวัด ย้ำไม่จำกัดไทย-เทศ แต่ต้องจ้างงานคนไทย
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์” โดยระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะขับเคลื่อนได้จำเป็นต้องมีกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลอยู่ผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ….. (พ.ร.บ.SEC) โดยสถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นประชาชน
อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมซึ่งได้รับมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำเนินการจัดทำ พ.ร.บ.SEC คาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและร่าง พ.ร.บ.SEC ให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอไปยัง ครม.พิจารณาภายในเดือน พ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะบรรจุวาระเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่กำลังจะเริ่มเปิดประชุมสามัญในวันที่ 3 ก.ค. และคาดว่ากระบวนการพิจารณาเหล่านี้จะแล้วเสร็จตามเป้าหมาย ผลักดันให้สามารถเริ่มกระบวนการประกวดราคา โดยร่างเอกสารเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (RFP) ในเดือน ธ.ค.นี้
“เนื่องด้วย พ.ร.บ.SEC เป็นเรื่องของกฎหมายใหม่ จึงคาดว่าจะไม่ได้มีการแตกประเด็นที่กว้างมาก และอาจไม่ได้ใช้เวลาในกระบวนการพิจารณามากนัก อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ จึงคาดว่า พ.ร.บ.SEC จะได้รับการพิจารณาเห็นชอบ และทำให้โครงการเดินหน้าประกวดราคา เพื่อเริ่มก่อสร้างได้ตามเป้าหมายกำหนด”
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมยังกำหนดกรอบการดำเนินงานของ “โครงการแลนด์บริดจ์” โดยประเมินว่าการร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ จะเสร็จไตรมาส 1 ปี 2569 และคัดเลือกผู้ลงทุนเสร็จไตรมาส 2 ปี 2569 จากนั้นจะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน และเสนอ ครม.อนุมัติโครงการในไตรมาส 2 ปี 2569 พร้อมลงนามสัญญากับเอกชนร่วมลงทุน โดยคาดการณ์ว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 ในไตรมาส 3 ปีหน้า แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการปลายปี 2573
ด้าน นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงความก้าวหน้าของโครงการแลนด์บริดจ์ ว่า ขณะนี้ได้ออกแบบสิ่งแวดล้อมเกือบแล้วเสร็จ อยู่ในช่วงการออก พ.ร.บ.SEC เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทั้ง 4 จังหวัด รวมถึงแลนด์บริดจ์ ซึ่งดำเนินการคู่ขนานไปกับการทำเอกสารประกวดราคา โดยคาดว่าจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอได้ในปีหน้า และได้ตัวเอกชนในปี 2569 แล้วเสร็จปี 2573 ซึ่งโครงการนี้จะประกวดราคาเป็นสัญญาเดียว ได้สิทธิดำเนินโครงการ 3 ส่วนทั้งท่าเรือน้ำลึก มอเตอร์เวย์ และรถไฟ
เบื้องต้นคาดว่าการลงทุนระยะที่ 1 จะมีมูลค่าราว 5 แสนล้านบาท จากผลการศึกษาของโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนรวม 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น โครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท, โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท, โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) 1.4 แสนล้านบาท และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท
สำหรับสาเหตุที่จะประกวดราคาครั้งเดียว เพราะต้องการให้เกิดการบูรณาการ เนื่องจากต้องการให้ทุกโครงการ “โครงสร้างพื้นฐาน” สามารถเชื่อมโยงกันได้ ผู้ประกอบการรายเดียวเข้ามาบริหาร ก็จะสามารถจัดการท่าเรือ เชื่อมต่อสินค้าไปที่รถไฟ หรือมอเตอร์เวย์ได้ทันที เป็นการบริหารโครงการให้มีประสิทธิภาพ คล่องตัว ซึ่งโครงการนี้จะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติร่วมทุนไทย และเข้ามาลงทุนได้ โดยไม่จำกัดสัดส่วนการร่วมลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
ส่วนที่มีกระแสขายชาตินั้น ขอชี้แจงว่า การเวนคืนที่ดินพัฒนาโครงการจะทำโดยรัฐบาล ที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐทั้งหมด เป็นของคนไทย ไม่ได้ยกให้ใคร เพียงแต่ประมูลให้ต่างชาติมาลงทุน ก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานให้ และพื้นที่ที่เหลือก็จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนกลุ่มอื่นมาตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้ ในพื้นที่ 4 จังหวัด
ซึ่งมองโอกาสเป็นประเภทสินค้าเกษตร สินค้าประมง สิ่งเหล่านี้จะต่อยอดอุตสาหกรรมและส่งออกให้มีมูลค่าเพิ่ม โดยการลงทุนนี้ก้จะไม่จำกัดนักลงทุนเป็นไทยหรือต่างชาติ แต่ต้องให้เกิดการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น
ขณะที่ นายตริน พงษ์เภตรา ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จุดยุทธศาสตร์ของสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันอยู่เชื่อมสองฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน และขณะนี้ในพื้นที่ภาคใต้ก็ยังมีการค้าน้ำมันระหว่างอ่าวมะละกา ทั้งส่วนของน้ำมันสุกและน้ำมันดิบ แต่จะมีการค้าขายได้ต้องผ่านทางสิงคโปร์ ดังนั้นถ้าจะมีแลนด์บริดจ์ขึ้นมา
ในฐานะภาคเอกชนอยากให้มีการพัฒนาเพื่อรองรับค้าขายน้ำมันทั้งสองฝั่งด้วย เพื่อรับดีมานด์ส่วนนี้ รวมทั้งอยากให้เรียนรู้จากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และให้ทำงานร่วมกันคนไทย ธุรกิจของคนไทยได้ด้วย
นายกิตติ กิตติชนม์ธวัช ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ชุมพร กล่าวว่า เห็นด้วยกับการพัฒนา พ.ร.บ.SEC และเห็นด้วยที่ต้องพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ส่วนปัญหาเขตอำเภอพะโต๊ะ ที่มีข้อกังวลเรื่องเขตอุตสาหกรรม ก็มองว่าเรื่องนี้ต้องชี้แจงและชดเชยชาวบ้าน โดยเฉพาะเขตป่าไม้ที่ประชาชนได้ปลูกแล้ว ก็ควรให้สิทธิชดเชยเจรจาให้เหมาะสม ส่วนเขตนิคมอุตสาหกรรมที่อาจจะพัฒนาในอนาคตก็ให้จัดพื้นที่อย่างชัดเจน ส่วนปัญหาเรื่องน้ำก็ขอเสนอแนะให้สร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น เชื่อว่าหากแก้ปัญหาเหล่านี้จะตอบโจทย์ประชาชน