นายกฯ ย้ำไทยจับตาท่าทีสหรัฐฯ ใกล้ชิดทุกมุม เชื่อ “มะกัน” รอดูฟีดแบครอบโลกเช่นกัน มั่นใจ “พลังอาเซียน” ผนึกสร้างอำนาจต่อรอง รับมือ “กำแพงภาษีทรัมป์” ให้รอดไปด้วยกัน
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ระหว่างการเดินทางเยือนกัมพูชา ว่า ระหว่างการหารือกับสมเด็จมหาบวรธิบดี “ฮุน มาเนต” นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้มีการพูดคุยถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษี ซึ่งเชื่อว่าทุกคนที่ประเทศไทยได้ติดตามสถานการณ์และเห็นการเปลี่ยนแปลง หลังจากที่สหรัฐฯ ให้เวลา 90 วัน ตอนนี้ผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ซึ่งประเทศไทยเลือกที่จะดูเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด และติดตามในทุกมุม ทุกด้าน ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง ต้องการอะไรเพิ่มเติมบ้าง ผ่านมายังไม่ถึง 30 วัน ก็มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรอบโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรื่องของภาษีค่อยๆ มีการปรับ
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าสหรัฐอเมริกาเองก็ต้องรอดูเหมือนกันว่าผลตอบรับที่ออกไปทั่วโลกเป็นอย่างไร มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะการคำนวณและกฎต่างๆ ที่ออกมานั้นค่อนข้างเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับทั่วโลก และเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะฉะนั้นสหรัฐอเมริกาก็ต้องดูสถานการณ์เช่นเดียวกับเรา แต่อาจจะดูคนละมุม ที่จะต้องดูสถานการณ์ ดูอุณหภูมิ ดูความเป็นไปได้ของทั่วโลกด้วย ซึ่งตนมองว่าเป็นสิ่งที่แฟร์ แต่ก็ต้องดูก่อนว่าแต่ละประเทศจะมีท่าทีอย่างไร เราเองก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นเรื่องของความรอบคอบ การเตรียมข้อมูลให้พร้อมที่ประเทศไทยทำอยู่ตอนนี้ เราก็ยังอยู่ในทิศทางที่กำหนดไว้ (on track) เราไม่ปล่อยให้หลุดมือไปไหน เรายังโฟกัสว่าเราสามารถทำอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง
นายกฯ กล่าวอีกว่า การที่ได้มาพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เราได้พูดคุยถึงกรอบความร่วมมือของอาเซียน ว่าแต่ละประเทศมีความแข็งแรงของตัวเองอย่างไรบ้าง และถ้ามารวมกันในกรอบของอาเซียนทำได้บ้าง เพราะจริงๆ แต่ละประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เหมือนใคร และมีจุดแข็งอีกมาก ถ้ามาร่วมกันแล้วเพิ่มอำนาจการต่อรองจะเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งยังเป็นเพียงแค่แนวความคิดยังไม่มีการลงนามหรือเซ็นเอกสารใด
ทั้งนี้ ตนได้คุยกับผู้นำในประเทศอาเซียนมาบ้างแล้ว เช่นเดียวกันกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ก็ได้คุยกับผู้นำในประเทศอาเซียนเช่นเดียวกัน และเห็นตรงกันว่าถ้าเราร่วมมือกันในกลุ่มอาเซียนจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ก็จะสามารถมีอำนาจในการต่อรอง ซึ่งเราพร้อมที่จะร่วมมือกัน หากมีการขึ้นกำแพงภาษีก็จะรอดไปด้วยกัน เพราะเรามีสิ่งที่มีความเฉพาะของประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทวีปอื่นไม่มีเหมือนอาเซียน
“สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่เราต่อรองได้อย่างแข็งแรง เมื่อได้คุยแล้วก็ดีใจที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ก็เห็นตรงกันในเรื่องนี้ เพราะการที่เราจะต่อรอง จะต้องต่อรองอย่างคนที่จะเจรจาแบบเป็นเพื่อนกัน ต่อรองแบบไม่ต้องเสียเปรียบหรือได้เปรียบในช่องว่างที่ใหญ่จนรับไม่ได้ แต่ต้องต่อรองให้เราและเขาก็เข้มแข็งเช่นกันต้องวิน-วินทั้งคู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นตรงกัน” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า การที่เรารอจังหวะสังเกตดูท่าทีของสหรัฐฯ ก่อนที่จะเจรจา เท่ากับเป็นผลดีต่อไทยใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนคิดว่าเช่นนั้น เพราะสหรัฐฯ เองก็สังเกตและดูท่าทีของรอบโลกเช่นกัน เราจึงต้องดูว่าอะไรเกิดขึ้น และจุดไหนเป็นจุดที่เหมาะที่เราจะต่อต้องรองในรายละเอียด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจับตาดูอยู่ นายกฯ ยังกล่าวยืนยันว่า ไม่ต้องห่วง เพราะรัฐบาลปรึกษาทางเอกชนด้วย ทั้งผู้ประกอบการที่ลงทุนในสหรัฐฯ เพราะเราอยากรู้ความเคลื่อนไหวว่าสามารถจะทำอะไรได้บ้างให้ครบถ้วน