“อดีตผู้ว่าฯ สตง.” เข้าแจง “กรรมาธิการ ป.ป.ช.” รับเป็นผู้เลือกพื้นที่ก่อสร้าง “อาคาร สตง.แห่งใหม่” แต่ไม่เกี่ยว “ออกแบบ” เหตุพ้นตำแหน่งไปแล้ว แจงร่วมเฟรม “2 นายทุนจีน” ดูไม่ออกว่าเป็นใคร-มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ยันรู้แค่มี “อิตาเลียนไทย-ไชน่าเรลเวย์” ร่วมค้า
วันนี้ (30 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการเข้าร่วมชี้แจงต่อ กมธ. กรณีขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง.แห่งใหม่ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ว่า ขั้นตอนก่อนที่ตนจะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อเราได้ที่ดินจะนำแบบแปลนที่เคยออกแบบไว้มาใช้หรือออกแบบใหม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารชุดต่อมา เดิมเราตั้งใจว่าเมื่อหาที่ตั้งเหมาะสมได้แล้ว หนีปัญหาน้ำท่วมเดินทางไกลได้แล้ว ก็นำพื้นที่กว้างๆ มาลงแปลนที่ได้ออกแบบ ก็เป็นอันพอใจแล้ว ขั้นตอนหลังจากนั้นไม่สามารถดูแลได้ เนื่องจากตนพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว
นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า การที่ตนเดินทางมาชี้แจงต่อ กมธ.ในวันนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเก่าทั้งก่อนที่จะมีการออกแบบก่อสร้าง จากผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน ตนในฐานะอดีตผู้ว่า สตง. ปี 2557-2560 ก็มีส่วนเลือกและกำหนดให้ใช้ที่ดินแปลงนี้ ใช้ในการก่อสร้างอาคารหลังใหม่
เมื่อถามถึงการปรากฏภาพที่ถ่ายร่วมกันกับนายบิงลิน วู และนายหลง เฉวียนวู นักธุรกิจชาวจีนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง สตง. นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีผู้รับจ้างแล้ว ซึ่งผู้รับจ้างหลักคือบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ส่วนบริษัท ไชน่าเรลเวย์ฯ เป็นผู้ร่วมค้า
“การจะไปถ่ายรูป มีภาพร่วมกันและบุคคลนั้นชื่ออะไร ถ้าบุคคลในสังคมไม่มีประเด็น ผมก็ดูไม่ออกว่าเป็นใคร มาในฐานะอะไร หรือสมอ้างเข้ามาถ่ายรูป ผมไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่ดูจากสายตาหากปกติไม่มีเหตุอันควรสงสัย เราอาจจะไม่ได้เอะใจว่าคนพวกนี้จะมายืนข้างๆ ล้อมหน้าล้อมหลัง หรือมีประโยชน์ทับซ้อนอย่างอื่นหรือไม่” นายพิศิษฐ์ กล่าวและว่า
ช่วงที่พูดถึงคือ ช่วงที่ได้ผู้รับจ้างที่เป็นกิจการร่วมค้าแล้ว ซึ่งกิจการร่วมค้าอยู่ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ สามารถมีกิจการร่วมค้าได้ แต่บริษัทต้องมีผลงานไม่เกินกว่าร้อยละ 50 ของวงเงินงบประมาณ แต่ผู้ร่วมค้าต้องเป็นบริษัทคนไทย จดทะเบียนในประเทศไทย สามารถทำสัญญาร่วมค้ากันได้และนำมาเสนอราคาต่อได้
ส่วนจะมีนอมินีแอบแฝงในกิจการค้านี้หรือไม่ ในขณะนั้นยังไม่มีระเบียบกำหนดว่าจะต้องไปตรวจสอบลึกถึงกิจการของนอมินีขนาดนั้น จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เกิดเหตุตึกถล่มมา พนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มาทำหน้าที่แล้ว อาจจะมีการจับกุมตัว แต่ไม่สามารถส่งฟ้องได้ สะท้อนว่า ถ้าจะตรวจสอบเรื่องนอมินีไม่ใช่จะตรวจสอบได้ด้วยตาเปล่า แต่ต้องพิสูจน์เรื่องเส้นทางการเงิน เพราะตามระเบียบกำหนดว่า ผู้แข่งขันประมูลโครงการ มีการฮั้วงานในลักษณะสมยอม เอื้อกันถือหุ้นไขว้ไปมา เป็นบริษัทในเครือเดียวกันแล้วมาแข่ง เชื่อว่าจะต้องตรวจสอบเรื่องเหล่านี้แน่นอน
“ยืนยันว่า เรื่องการออกแบบ ตนไม่เกี่ยวข้อง เพราะพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่เลือกพื้นที่ก่อสร้างตึกเสร็จสิ้น แต่การออกแบบเกิดในปี 2561-2562 มีการทำสัญญาในปี 2563-2564 ซึ่งตนเองได้พ้นจากตำแหน่งไป 3-4 ปีแล้ว” อดีตผู้ว่าฯ สตง.ระบุ