Home Feature ‘วินธัย’ ยัน ‘กองทัพ’ ไร้ปฏิบัติการไอโอ ปูด! ลิสต์เป้าหมายติดตาม ปัดเอี่ยวเพจด่านักการเมือง

‘วินธัย’ ยัน ‘กองทัพ’ ไร้ปฏิบัติการไอโอ ปูด! ลิสต์เป้าหมายติดตาม ปัดเอี่ยวเพจด่านักการเมือง

by admin

“โฆษก ทบ.” โผล่แจง กมธ.ความมั่นคงฯ ยัน “กองทัพ” ไม่มีปฏิบัติการ IO ลั่นทำเปิดเผยชี้แจงความเข้าใจผิดต่อทหาร รับเป้าหมายติดตาม เป็นอินฟลูฯ หรือบุคคลที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก รวมถึงนักวิชาการ-นักการเมือง ขอไร้กังวลหากไม่ทำผิดกฎหมาย ชี้สู้กันด้วยข้อเท็จจริง ปัดเพจด่านักการเมืองไม่ใช่ของกองทัพ ลั่นถ้าเจอแจ้งดำเนินคดีได้เลย ด้าน “โรม” หวังไม่เห็นเอาเงินภาษี ปชช.มาทำปฏิบัติการข่าวสาร

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (1 พ.ค.) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร จะมีการพิจารณาศึกษาปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ทางสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานด้านความมั่นคง ที่ส่งผลกระต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงต่อ กมธ.

โดยมี พล.อ.ต.วิศัลย์ ธรรมประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการและการข่าว สำนักนโยบายและแผนกลาโหม, พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก, พล.ต.ธรรมนูญ ไม้สนธิ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นภายในราชอาฯจักร (กอ.รมน.), พล.อ.ท.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ ,พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, นายวิสูตร ด้วงมาก ผอ.กลุ่มกฎหมาย 3 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ,นางนวรัตน์ สถาพรนานนท์ ผอ.สำนักสอบสวน 3 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวว่า การพิจารณาวันนี้ ทาง กมธ.เห็นว่าเรื่อง IO ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลายครั้ง และในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาตั้งแต่ยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่ามีการใช้ปฏิบัติการ IO หลายครั้ง ทั้งต่อประชาชน นักวิชาการ นักการเมือง เมื่อเป็นแบบนี้ก็เป็นปัญหาที่แก้ไม่จบเสียที และหลังจากที่เรามีรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เราถือว่าเป็นรัฐบาลพลเรือน เราคาดหวังว่าปฏิบัติการ IO จะไม่มีอีกแล้ว แต่กลายเป็นว่าปฏิบัติการ IO กลับรุนแรงกว่าเดิม ใหญ่กว่าเดิม และยังมีอยู่

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า วันนี้เราเห็นว่าเรื่องการทลายรัง IO มีความก้าวหน้า อย่างน้อยที่สุดประชาชนได้เห็นโครงสร้างนี้แล้ว และ IO เหล่านี้ไม่ใช่เฉพาะ IO การเมืองฝ่ายค้านเท่านั้น แต่พบว่าแม้กระทั่งคนในรัฐบาลหรือคนที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลก็โดน IO ฉะนั้นเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ตนคิดว่าจะเป็นต้องมีแนวทางในการแก้ปัญหา และจัดการเรื่องนี้อย่างมีความชัดเจน ซึ่งปัญหาที่เราเห้นอยู่ยังไม่มีทางออกในเรื่องนี้เลย ดังนั้นทางกรรมาธิการจึงพยายามเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมในวันนี้

“หากถามว่าความคาดหวังคืออะไร ผมคิดว่าเราไม่ควรจะเห็นการใช้เงินภาษีของประชาชนในการทำข้อมูลปฏิบัติการข่าวสารแบบนี้ เวลาการทำข้อมูลข่าวสารแบบนี้มันเต็มไปด้วยเฟคนิวส์ เต็มไปด้วยการสร้างความเกลี่ยดชังมีจุดมั่งหมายสร้างความแตกแยก ซึ่งทั้งหมดนี้ตรงข้ามกับอุดมการณ์ของกองทัพ อุดมการณ์ของทหารไทย และทำไมเราต้องปล่อยให้ปฏิบัติการแบบนี้ยังมีอยู่” นายรังสิมันต์ กล่าว

ขณะที่ในการประชุม กมธ. นายรังสิมันต์ ประธานที่ประชุม ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนฟังเพียงในช่วงแรก ซึ่งหน่วยงานความมั่นคง ทั้ง กอ.รมน., กระทรวงกลาโหม, กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่าไม่มีนโยบายทำปฏิบัติการ Information Operation หรือ IO แต่เป็นการสื่อสารเพื่อความเข้าใจในการทำงานของหน่วยงาน และบทบาทหน้าที่ของทหารในการป้องกันประเทศ ช่วยเหลือประชาชน รวมถึงสนับสนุนงานของรัฐบาล

โดย พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า กองทัพบกไม่มีการทำ IO แต่คำนี้เกิดขึ้นกับทั่วโลก ซึ่งใช้ปฏิบัติการทางทหาร คือการใช้ IO เป็นเครื่องมือสื่อสารในการรบ และอยู่ในภารกิจป้องกันประเทศ ทั้งนี้ เมื่อมาอยู่ในประเทศไทย กองทัพจึงใช้ในการเสริมสร้างความเข้าใจและแก้ไขในสิ่งที่เข้าใจผิด ด้วยวิธีประชาสัมพันธ์ ที่ผ่านมากองทัพพยายามที่จะแก้ไขเรื่องที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง โดยเน้นไปที่เรื่องการสร้างความรับรู้ เพื่อปกป้องเกียรติยศและศักดิ์ศรีขององค์กร แต่ทั้งหมดเป็นการกระทำโดยเปิดเผย รวมถึงเป้าหมายทั้งหมด คือ ประชาชน และนโยบายของเราไม่เคยคิดว่าความเข้าใจทั้งหมดเป็นเรื่องเลวร้าย แต่เป็นผลดีที่จะทำให้เราได้ชี้แจง ไม่มีลักษณะก้าวร้าว หรือทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีต่อกัน จึงไม่เรียกว่า “ปฏิบัติการ IO” แต่มันคือการสร้างความเข้าใจ การประชาสัมพันธ์ หรือการสร้างการรับรู้

“วันนี้เราใช้ช่องทางออนไลน์สื่อสารเป็นหลัก หากพบว่าไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม ก็มีขั้นตอนการดำเนินการอยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และเรื่องการหมิ่นประมาท ที่ดำเนินการได้อยู่แล้ว โดยขั้นตอนในการดำเนินการมีเป้าหมาย คือ บุคคลที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก อาจรวมไปถึงนักการเมืองหรือนักวิชาการด้วย ที่จะอยู่ในกลุ่มดังกล่าวเนื่องจากสังคมให้ความสนใจ ซึ่งการติดตามจากกองทัพไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะสุดท้ายเราจะต่อสู้กันด้วยข้อเท็จจริง” พล.ต.วินธัย กล่าว

ดังนั้นหากความเข้าใจผิดเกิดจากเป้าหมายดังกล่าว ก็จะต้องเร่งชี้แจงก่อน และยอมรับตรงๆ เป้าหมายอื่นคือผู้ที่มีทัศนคติไม่ดีกับทหาร โดยมีความต้องการให้สังคมรับรู้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ขอย้ำว่า ไม่ได้โกรธ หรือตั้งตัวเป็นคู่ขัดแย้ง แต่ยอมรับว่ากองทัพบกใช้อินฟลูเอ็นเซอร์ ในช่องทางออนไลน์ แต่ทำในลักษณะเปิดเผย

เมื่อถามว่าที่ออกมาโจมตีนักการเมือง และมีการแอบอ้างว่าเป็นทหาร หรือหน่วยงานด้านความมั่นคง พล.ต.วินธัย กล่าวยืนยันว่า ไม่ใช่หน่วยงานกองทัพ และหากพบเหตุในลักษณะนั้นก็สามารถดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้เลย

Related Articles