“พริษฐ์” ชำแหละคำของบฯ 69 ของรัฐสภา จับตา 15 โครงการมูลค่าสูง รวมหลายพันล้านบาท ส่วนใหญ่เน้นก่อสร้าง-เติมแต่ง-ติดตั้งระบบ ทั้งที่สภาฯ เพิ่งสร้างเสร็จ กังขาจำเป็นหรือไม่ ทำโรงหนัง 4D มูลค่า 180 ล้าน ปรับปรุงไฟส่องสว่าง 117 ล้าน รีโนเวทศาลาแก้ว 2 หลัง 123 ล้าน ปูดห้องประชุมงบฯ 118 ล้าน ห้องครัวรัฐสภา 117 ล้าน ติดตั้งโสตฯ-ปรับปรุงห้องจัดเลี้ยง พ่วงซื้อจอ LED 72 ล้าน แย้มอีก 5 โครงการยังไม่ได้รับจัดสรร อึ้ง! ฉากหลังบัลลังก์ประธานสภาฯ 133 ล้าน “ประธานวิปรัฐบาล” ติงของบฯ ปรับปรุงรัฐสภา อะไรเกินจำเป็นก็ต้องตัด! พร้อมเปิดกรอบเวลา ถกงบฯ ปี 69 “รบ.-ฝ่ายค้าน” คนละ 20 ชั่วโมง คาดได้จ้อ 3 วัน
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “เปิดคำของบประมาณ 2569 ของรัฐสภา จับตา 15 โครงการมูลค่าสูง ปรับปรุง-ติดตั้งระบบ-เติมแต่ง อาคารรัฐสภา” โดยระบุว่า ในช่วงเดือนนี้ที่สภาผู้แทนราษฎรเข้าใกล้กระบวนการพิจารณางบประมาณ 2569 กมธ. พัฒนาการเมืองฯ ได้ตัดสินใจเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเมืองและการยกระดับประชาธิปไตย เช่น สภาฯ ป.ป.ช. กกต. มาชี้แจงคำของบประมาณของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ กมธ.ได้ทำการศึกษาและตรวจสอบในเบื้องต้น
นายพริษฐ์ ระบุว่า การประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เป็นคิวของงบประมาณ 2569 ของสภา ซึ่งมีหลายข้อคำถามและข้อสังเกตเบื้องต้น ที่ทาง สส. ผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วน ได้มีการสื่อสารต่อสาธารณะไปบ้างแล้ว ประเด็นหลักที่ทาง กมธ.ได้ขอให้หน่วยงานชี้แจง คือ “โครงการใหม่ที่หน่วยงานเห็นว่าสำคัญและใช้งบประมำณในวงเงินสูง” ทั้งที่ได้ขอไปและสำนักงบฯ อนุมัติ รวมถึงที่ขอไปและสำนักงบฯ ไม่อนุมัติ โดยทางหน่วยงานได้ระบุมาทั้งหมด 15 โครงการ ดังต่อไปนี้
- โดย 10 โครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2569 โดย ครม. และอยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบฯ
– ก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่พิพิธภัณฑ์รัฐสภา (รวมค่าจ้างที่ปรึกษา) = 44 ล้านบาท
– พัฒนาระบบภาพยนตร์ 4D ห้องบรรยายใหญ่ B1-2 = 180 ล้านบาท
– ปรับปรุงไฟส่องสว่างเพิ่มเติมบริเวณห้องประชุมสัมมนาชั้น B1 และ B2 = 117 ล้านบาท
– ปรับปรุงศาลาแก้ว 2 หลัง = 123 ล้านบาท
– ปรับปรุงห้องประชุมงบประมาณ = 118 ล้านบาท
– ปรับปรุงพื้นที่ครัวของอาคารรัฐสภา = 117 ล้านบาท
– ติดตั้งภาพและเสียงประจำห้องจัดเลี้ยง ชั้น B2 = 99 ล้านบาท
– จัดซื้อจอ LED Display = 72 ล้านบาท
– พัฒนาปรับปรุงพื้นที่ส่วนภูมิทัศน์และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ = 43 ล้านบาท
– ปรับปรุงห้องจัดเลี้ยง ชั้น 1 โซน C = 43 ล้านบาท
รวม = 956 ล้านบาท
- ส่วน 5 โครงการที่หน่วยงานทำคำขอ แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2569 โดย ครม.
– ก่อสร้างอาคารจอดรถรัฐสภา (เพิ่มเติม) (รวมค่าควบคุมงานและค่าจ้างที่ปรึกษา) = 1,529 ล้านบาท
– ออกแบบและตกแต่งฉากหลังบัลลังก์ประธานสภาฯในห้องประชุมสุริยัน = 133 ล้านบาท
– จัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย = 74 ล้านบาท
– ระบบป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 และเสริมสร้างคุณภาพอากาศ = 50 ล้านบาท
– จ้างงานซ่อมแซมปรับปรุงเสาไม้สัก = 31 ล้านบาท
รวม = 1,817 ล้านบาท

นายพริษฐ์ ระบุอีกว่า แม้ทางตัวแทนในที่ประชุม เป็นตัวแทนจากสำนักที่ไม่ใช้เจ้าภาพหลักของโครงการ จึงยังไม่มีข้อมูลมาชี้แจงรายละเอียดของโครงการต่อ กมธ. แต่ข้อมูลที่ทำให้ตนสะดุดใจและข้อสังเกตที่มีเบื้องต้นคือ
1.โครงการส่วนใหญ่เน้นไปที่การก่อสร้าง-เติมแต่ง-ติดตั้งระบบ ในส่วนต่างๆ ของอาคารรัฐสภา ทั้งที่รัฐสภาเพิ่งถูกสร้างด้วยงบประมาณ 22,987 ล้านบาท และเพิ่งเปิดใช้การมาแค่ประมาณ 5 ปี แม้อาจมีการให้เหตุผลว่า อาคารรัฐสภาถูกก่อสร้างตามสัญญาตั้งแต่กว่า 10 ปีก่อน จึงทำให้บางส่วนไม่ได้ระบุไว้ในแบบ แต่ตนเห็นว่า ตรงนี้ยิ่งทำให้เราต้องตรวจสอบโดยละเอียดว่าสิ่งที่ขอให้มีการเพิ่มเติมนั้น มีความจำเป็นต่อการใช้งานและการทำหน้าที่ของสภาฯ จริงๆ หรือไม่
2.บางโครงการ ก็น่าตั้งคำถามถึงความจำเป็น แม้ ณ เวลานี้ กมธ.รับทราบแค่ชื่อและข้อมูลเบื้องต้นของโครงการ โดยทางเราได้ขอให้มีการส่งเอกสารเพิ่มเติมมาในสัปดาห์นี้ เช่น การปรับปรุงห้องประชุมงบประมาณ 118 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เป็นห้องที่ใช้งานได้ปกติมาโดยตลอด และยากที่จะเห็นถึงความจำเป็นใดๆในการปรับปรุงขนาดใหญ่ด้วยงบประมาณขนาดนี้
ตลกร้ายคือห้องนี้เป็นห้องที่ กมธ.วิสามัญฯ งบประมาณ ใช้ในทุกปี เพื่อไล่ตรวจสอบความคุ้มค่าของงบประมาณของทุกหน่วยงานในประเทศ เช่น การออกแบบและตกแต่งฉากหลังบัลลังก์ประธานสภาผู้แทนราษฎรในห้องประชุมสุริยัน 132 ล้านบาท ซึ่งดูเป็นการตกแต่งที่ฟุ่มเฟือยและไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการทำให้การประชุมสภา มีประสิทธิภาพขึ้น
ตอนที่ทาง กมธ.ได้บรรจุวาระเพื่อตรวจสอบงบประมาณของสภา มีการตั้งคำถามจากบางส่วนกลับมาว่าการตรวจสอบงบประมาณเกี่ยวข้องอะไรกับ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ
นายพริษฐ์ เห็นว่าเกี่ยวข้องแน่นอน เพราะในมุมหนึ่ง ในฐานะที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นสถาบันการเมืองระดับชาติองค์กรเดียวที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง หากงบประมาณถูกใช้อย่างถูกจุด องค์กรจะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการผลักดันการแก้ไขกฎหมาย การสะท้อนความทุกข์ร้อนของประชาชน และการตรวจสอบ เสนอแนะฝ่ายบริหาร
แต่ในทางกลับกัน ในฐานะที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่อนุมัติและชี้ขาดว่างบประมาณจากภาษีประชาชนในแต่ละปี จะถูกจัดสรรไปที่หน่วยงานใด โครงการอะไร หากงบประมาณของสภา ถูกใช้อย่างไม่สมเหตุสมผล สภาผู้แทนราษฎรอาจสูญเสียความชอบธรรมในการตรวจสอบงบประมาณของหน่วยงานอื่น และทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในสภาน้อยลง ซึ่งย่อมส่งผลต่อสุขภาพของประชาธิปไตย
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะงบประมาณจะมีที่มาอย่างไร หรือถูกตั้งมาโดยใคร ณ เวลานี้ ยังไม่สายเกินไปที่พวกเราผู้แทนราษฎรทุกฝ่ายจะร่วมกันทำการตรวจสอบและปรับลดส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรพร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณของหน่วยงานตนเองเช่นกัน
ในขั้นตอนถัดไป ทาง กมธ.จะทำการตรวจสอบเพิ่มเติมเมื่อได้รับเอกสารรายละเอียดคำชี้แจงกลับมาจากหน่วยงาน โดยในการประชุมวันพฤหัสบดีนี้ (8 พ.ค.68) จะเชิญสำนักที่เป็นเจ้าภาพของแต่ละโครงการมาซักถามข้อมูลเพิ่มเติม และพา กมธ.สำรวจแต่ละโครงการตามจุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในอาคารรัฐสภา

ขณะที่ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ว่า น่าจะเหมือนเดิม คือแบ่งเวลาให้ฝ่ายค้าน และรัฐบาล ฝ่ายละ 20 ชั่วโมง ประธานในที่ประชุม 1 ชั่วโมง ครั้งนี้ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทุกฝ่ายสามารถอภิปรายได้หมด คาดว่าน่าจะใช้เวลาในการพิจารณาภายใน 3 วัน
เมื่อถามว่าในวันที่ 13 พ.ค.นี้ ที่จะมีการประชุม สส.ของพรรคเพื่อไทย จะพูดคุยถึงเรื่องการตัดงบประมาณในส่วนใดด้วยหรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า “ต้องพูด เราต้องดูว่าอะไรที่ไม่จำเป็น หรืออะไรที่จำเป็นบ้าง”
สิ่งที่รัฐบาลเขียนมามีอะไรบ้างเราต้องตรวจสอบดูด้วย ส่วนจะมีการพูดคุยเรื่องอะไรอีกหรือไม่ เพื่อนำเสนอให้ฝ่ายบริหารแก้ไขปัญหานั้น เป็นเรื่องปกติที่เมื่อปิดสมัยประชุมสภาฯ สส.จะลงพื้นที่ไปพบปะกับพี่น้องประชาชน และนำปัญหามาสะท้อนให้ฝ่ายบริหารเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคประชาชน (ปชน.) เตรียมตัดงบประมาณในการปรับปรุงอาคารรัฐสภา
นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า อะไรที่จำเป็นก็ต้องทำ ที่ไม่จำเป็นก็ไม่ควรทำ ขณะนี้ควรกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนก็ควรทำ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะฝ่ายค้านอย่างเดียว แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องตรวจสอบด้วยว่าอะไรที่เสนอโดยหน่วยงานต่างๆ มาแล้วไม่เป็นประโยชน์ ไม่สร้างกระตุ้นเศรษฐกิจ เราต้องช่วยกันตัด