“รมช.คลัง” เผยบอร์ด PPP ไฟเขียวโครงการท่าเรือแหลมฉบัง B1-B2 พร้อมเห็นชอบแผนร่วมลงทุนฯ ปี 63-70 มูลค่ากว่า 9.2 แสนล้านบาท
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ครั้งที่ 1/2568 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการโครงการท่าเทียบเรือ B1 และ B2 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ด้วยรูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าโครงการรวม 12,819 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นประตูการค้าสำคัญของประเทศ นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนฯ ปี 2563-2570 ที่มีโครงการรวมมูลค่ากว่า 9.2 แสนล้านบาท
โครงการท่าเทียบเรือ B1 และ B2 จะเป็นการควบรวมท่าเทียบเรือทั้งสองเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มความยาวหน้าท่า ทำให้สามารถรองรับเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น โดยเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการปรับปรุงสิ่งปลูกสร้าง ลงทุนจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีสำหรับการยกขนสินค้า การดูแลบำรุงรักษา และการบริหารจัดการโครงการทั้งหมด
ขณะที่ กทท. จะทำหน้าที่กำกับดูแล ติดตามตรวจสอบคุณภาพการดำเนินงาน และได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทนเป็นรายปีตามเงื่อนไขที่ตกลง
คณะกรรมการฯ เห็นว่าโครงการนี้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 5 ที่มุ่งให้ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค การพัฒนาท่าเทียบเรือ B1 และ B2 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานจากการใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และทำให้สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้มากขึ้น ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ
นอกจากโครงการท่าเรือแหลมฉบังแล้ว คณะกรรมการ PPP ยังได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563-2570 ให้มีความสอดคล้องกับความพร้อมของแต่ละโครงการและเป็นปัจจุบันมากขึ้น โดยแผนฉบับปรับปรุงนี้มีรายการโครงการที่ประสงค์จะดำเนินการในรูปแบบ PPP รวมทั้งสิ้น 139 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 9.21 แสนล้านบาท
แผนร่วมลงทุนฯ ฉบับนี้จะเป็นกรอบทิศทางการจัดทำโครงการ PPP ของประเทศที่ชัดเจน และจะช่วยสร้างความสนใจและดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐมากขึ้น โดยได้ขยายขอบเขตโครงการให้ครอบคลุมถึงโครงการเชิงสังคมในด้านต่างๆ มากขึ้น เช่น โครงการด้านสาธารณสุข และด้านการจัดการน้ำและบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการ PPP ยังได้เร่งรัดโครงการร่วมลงทุนต่างๆ ที่อยู่ในแผน ให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น