Home Feature เปิด 8 ขั้นตอน ‘สตง.’ แจงเหตุตึกถล่ม พิรุธอื้อ! แก้แบบ 9 ครั้ง-ปล่องลิฟท์-ส่อฮั้ว

เปิด 8 ขั้นตอน ‘สตง.’ แจงเหตุตึกถล่ม พิรุธอื้อ! แก้แบบ 9 ครั้ง-ปล่องลิฟท์-ส่อฮั้ว

by admin

เปิด 8 ขั้นตอน! ข้อมูลการก่อสร้างตึกเต้าหู้ “ผู้ว่าฯ สตง.” ชิ่งหาย ส่งตัวแทน “รองผู้ว่าฯ” หอบเอกสารโร่แจง กมธ.สภาฯ พบแก้แบบก่อสร้าง 9 ครั้ง ทั้ง “ปล่องลิฟต์-โครงสร้าง-การก่ออิฐ” ก่อนขยายเวลางานเพิ่ม ชี้ย้ายหนีน้ำท่วมปทุมฯ มาที่ซากตึกถล่มกำแพงเพชร 2 ยันออกแบบโครงสร้างทางวิศวกรรม “รองรับแรงแผ่นดินไหว” ส่อพิรุธ! “อิตาเลียนไทย-ไชน่า เรลเวย์ฯ” ยื่นซื้อเอกสารประกวดราคา ก่อนยุบรวมเป็นกิจการร่วมค้า “ITD-CREC” ประมูลงานตึกถล่ม

วันนี้ (7 พ.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการยกระดับมาตรฐานการก่อสร้าง มาตรฐานความปลอดภัย การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างอย่างเป็นระบบ สภาสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรุงเทพมหานคร เข้าชี้แจงสรุปสาเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยนายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าฯ สตง. มาชี้แจงแทนผู้ว่าฯ สตง.ที่ติดภารกิจ โดยได้นำข้อมูลการก่อสร้างตึก สตง. ทั้ง 8 ขั้นตอน มาชี้แจงประกอบด้วย ดังนี้

1.การเลือกพื้นที่ ซึ่งเปลี่ยนจากสถานที่เก่า ที่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี มาที่ถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟ เนื่องจากพื้นที่เดิมเกิดน้ำท่วม

2.แนวการออกแบบ ยึดเอกลักษณ์ความเป็นไทย อัตลักษณ์ขององค์กร โครงสร้างทางวิศวกรรมเพื่อรองรับแรงแผ่นดินไหว รวมถึงเหมาะสมกับสภาพพูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และความสามารถในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรในอนาคต

3.สาเหตุการถล่มของอาคาร เนื่องจากเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 เกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ริกเตอร์ ทำให้รู้สึกสั่นไว้ได้เป็นบริเวณกว้างในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นเหตุให้อาคาร สตง.ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่ม ส่วนสาเหตุที่ทำอาคาร สตง.ถล่มอันเกิดจากแผ่นดินไหวนั้น อยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง

4.ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นการจ้างออกแบบของกลุ่มค้า โดยวิธีการคัดเลือก จากการให้คะแนนของคณะกรรมการดำเนินการออกแบบ วงเงินจ้าง 73 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 3 พ.ค.61 สตง.มีหนังสือถึงนายกสภาสถาปนิก และนายกสภาวิศวกร เพื่อขอความอนุเคราะห์รายชื่อนิติบุคคลผู้มีผลงานออกแบบก่อสร้างอาคารสำนักงานเพื่อใช้ประกอบการดำเนินการคัดเลือกผู้ออกแบบ จากนั้นวันที่ 15 มิ.ย.61 คณะกรรมการดำเนินการจ้างออกแบบได้ส่งหนังสือเชิญผู้ให้บริการมายื่นข้อเสนอจำนวน 24 ราย โดยคัดเลือกรายชื่อบริษัทจากผลงานการออกแบบอาคารสำนักงาน อาคารมูลค่า 750 ล้านบาทขึ้นไป

ต่อมาวันที่ 16 ก.ค.61 มีผู้ให้บริการมายยื่นข้อเสนอจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย บริษัทร่วมค้า บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สแปน คอนซัลแดตนท์ จำกัด และกลุ่มร่วมค้า บริษัท ดีไซน์+ดีเวลลอป จำกัด และบริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุดถึง 91.12 คะแนน คือ บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด

สำหรับจัดซื้อจัดจ้างการก่อสร้างสำหรับวิธีการจัดซื้อจัดจ้างการก่อสร้างอาคารใช้วิธีอี-บิดดิ้ง โดยมีราคากลางอยู่ที่ 2,522,153,000 บาท โดยมีผู้สนใจซื้อเอกสารประกวดราคาจำนวน 16 ราย โดยปรากฏชื่อบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์10 (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) แต่มีผู้ยื่นเสนอราคาจำนวน 7 ราย ในนามซึ่งมีการยื่นประมูลของสองบริษัทในนาม กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี และเป็นผู้ชนะประมูลโครงการดังกล่าวในวงเงิน 2,136 ล้านบาท โดยมีการลงนามในสัญญาจ้างวันที่ 23 พ.ย.2563 มีระยะในสัญญา 1,080 วัน ตกลงจ่ายค่าจ้าง 36 งวด

นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมและในรายละเอียดสัญญาจ้างก่อสร้าง โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติม 9 ครั้ง ซึ่งเป็นการแก้ไขแบบการก่อสร้าง อาทิ การแก้ไข CORE LIFT อาคาร A, แบบบันได อาคาร B, CORE WALL อาคาร A ในครั้งที่ 4 และปรากฎการแก้ไข Core Wall อาคาร A อีกในการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 6 และในการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 8 ผู้รับพบว่า ผู้รับจ้างแจ้งความประสงค์ขอปรับแก้ไขงวดงานก่อสร้าง เนื่องจากรายการงานในงวดงานที่ระบุไว้ในสัญญา มีหลายรายการที่ไม่สอดคล้องกับขั้นตอนการปฎิบัติงานที่ควรจะเป็น จำเป็นต้องปรับแก้ไขรายการงานที่ติดขัดกับขั้นตอนการทำงานจำนวน 18 รายการ ในงวดที่ 20-35

ประกอบด้วย งานโครงสร้าง, งานก่ออิฐ, งานผิวผนัง, งานฝ้าเพดาน, งานพื้นและงานผิวพื้น, งานฝังยึดราวบันได, งานสำเร็จบันได, งานประตูหน้าต่าง, งานสุขภัณฑ์และอุปกรณ์, งานบัวเชิงผนัง, งานสถาปัตยกรรมห้องเครื่อง, งานหลังคา, งานเบ็ดเตล็ดและอื่นๆ, งาน Curtain Wall, การตกแต่งภายใน, งานป้ายสัญลักษณ์, งานเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว และงานภูมิสถาปัตยกรรมและงานภายนอก

สำหรับการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 9 นั้น เป็นการปรับแผนการทำงานใหม่โดยนำระยะเวลาการทำงานจำนวน 1,080 วันมานับต่อจากวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาตามแผนการทำงานใหม่

ในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้าง งานจ้างควบคุมงาน จะใช้วิธีการคัดเลือก วงเงิน 76,800,000 บาท โดยการตั้งคณะกรรมการดำเนินการจ้างควบคุมงาน หนังสือและส่งหนังสือเชิญผู้ให้บริการมายื่นข้อเสนอจำนวน 19 ราย มีผู้ให้บริการมายื่นข้อเสนอจำนวน 5 ราย นิติบุคคลซึ่งกลุ่มนิติบุคคลร่วมค้า PKW เป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากคะแนนสูงสุด ได้รับวงเงินค่าจ้างเป็นเงิน 74,653,200 บาท

5.การตรวจรับพัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง 6.ใบอนุญาตแผนผังบริเวณโครงการ ซึ่ง สตง.ได้มีหนังสือแจ้งและส่งแผนผัง แบบแปลน รายการประกอบแบบและรายชื่อผู้ควบคุมงานให้กับทางกรุงเทพกรุงเทพมหานคร ซึ่งทางกรุงเทพฯ 256 ได้มีหนังสือตอบกลับในวันที่ 12 เม.ย.2566 ว่า จากการพิจารณาเห็นว่าไม่ขัดต่อกฎกระทรวงกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2522 แต่อย่างใด

7.รายงานผลทดสอบคอนกรีต ซึ่งผู้รับจ้างก่อสร้างได้ขออนุมัติวัสดุคอนกรีตผสมเสร็จผลิตภัณฑ์ของ บริษัท ทีพีโอ คอนกรีต จำกัด ใช้สำหรับฐานรากและเสาเข็ม ซึ่งมีวิศวกรโยธาระดับสามัญลงลายมือชื่อรับรองรายการคำนวณส่วนผสมคอนกรีต พร้อมทั้งส่งตัวอย่างไปทดสอบที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และกรมวิทยาศาสตร์ บริการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการทดสอบคุณภาพวัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้างตามสัญญา

และ 8.รายงานการควบคุมงานของผู้ควบคุมงาน ซึ่งจะมีการรายงานข้อมูลที่สามารถแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติหรือการแสดงสิ่งที่ผู้ให้บริการ ผู้ควบคุมงานได้ดำเนินการในแต่ละเดือนพร้อมหลักฐานและภาพประกอบ

Related Articles