“วราวุธ” เผย พม.หนุน “นายจ้าง-สถานประกอบการ” จ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้น เอื้อสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี 2-3 เท่า
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (13 พ.ค.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า กระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้ผลักดันการมีงานทำของคนพิการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมั่นคงในการดำรงชีวิตอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติต่อคนพิการ โดยมาตรา 33, 34 และ 35 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐ รับคนพิการเข้าทำงาน ในอัตรา 100 : 1 (คนปกติ 100 คน ต่อคนพิการ 1 คน) เศษเกิน 50 คน ต้องจ้างเพิ่มอีก 1 คน
ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้ดำเนินการสนับสนุนให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้ขับเคลื่อนกองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาศักยภาพคนพิการ และการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ
สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการตามกฎหมายดังกล่าวนั้น นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่รับคนพิการที่มีบัตรประจําตัวคนพิการเข้าทํางาน มีสิทธินําค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปจากการจ้างคนพิการเข้าทํางาน มาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจํานวน 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไป
และกรณีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจํานวน 3 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไป เมื่อจ้างคนพิการเข้าทํางานเกินกว่าร้อยละ 60 ของลูกจ้างในสถานประกอบการนั้น โดยมีระยะเวลาจ้างเกินกว่า 180 วัน ในปีภาษี หรือรอบระยะเวลาบัญชีที่มีเงินได้
หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่มีการรับคนพิการที่มีบัตรประจําตัวคนพิการเข้าทํางาน และไม่ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แต่มีการให้สัมปทาน จัดสถานที่จําหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน หรือจ้างเหมาบริการ ให้ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์ หรือสิ่งอํานวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ โดยค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปจริงซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจการของตนเอง นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้น มีสิทธินําค่าใช้จ่ายนั้นมาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ แต่รายจ่ายดังกล่าวจะต้องไม่เกินจํานวนเงินที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ