Home Feature ชี้ชะตา ‘ปู’ บ่วงชดใช้จำนำข้าว เปิดสูตรคิดค่าเสียหาย! ต้นทาง ‘ม.44’ สู่กลไกเรียกเงินคืน

ชี้ชะตา ‘ปู’ บ่วงชดใช้จำนำข้าว เปิดสูตรคิดค่าเสียหาย! ต้นทาง ‘ม.44’ สู่กลไกเรียกเงินคืน

by admin

จับตา! ฉากสุดท้ายมหากาพย์ “จำนำข้าว” ลุ้นบ่ายพรุ่งนี้ ศาลปกครองสูงสุดนัดชี้ชะตา “ยิ่งลักษณ์” ต้องเรียกชดใช้เงิน 3.5 หมื่นล้าน “คดีทุจริตจำนำข้าว” หรือไม่ ชี้ยังเหลือชนักติดหลังอาญา โทษจำคุก 5 ปี คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหาย พร้อมเปิดสูตรคิดค่าเสียหาย “ต้นทาง” คำสั่งหัวหน้า คสช. “มาตรา 44” สู่กลไกเรียกเงินคืน เผยศาลฎีกาฯ ยังชี้ “ปู” ไร้ผิดในภาพรวมโครงการ แต่ผิดเฉะพาะกรณี “ละเว้นให้เกิดการทุจริต” ในปีการผลิต 54/55 หลังศาลสั่งฟัน “บุญทรง-ภูมิ” 2 รมต.พาณิชย์ เรียกชดใช้เงิน 20% ของมูลค่าความเสียหายไปแล้ว แง้มคำสั่ง “ศาลปกครองกลาง” ส่อทำ “ปู” พ้นบ่วงคดีแพ่ง เหตุมีการ “เหมารวมค่าเสียหาย” จากปีที่ไม่มีการระบายข้าว

กำลังเดินมาถึงโค้งสุดท้ายแห่งคดีประวัติศาสตร์โครงการ “รับจำนำข้าว” ที่ล่าสุดวันพรุ่งนี้ (22 พ.ค.68) เวลา 13.30 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดชี้ชะตา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดียื่นฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่เรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 35,717,273,028 บาท กรณีปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการ

โดยอดีตนายกฯ “ยิ่งลักษณ์” ในฐานะผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ร้องต่อศาลว่า คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อ้างว่า “ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม” ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ว่าจงใจปล่อยให้เกิดการทุจริต และไม่ยับยั้งความเสียหายในโครงการจำนำข้าว จนนำไปสู่การเรียกชดใช้ความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท

ก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษา “เพิกถอน” คำสั่งของกระทรวงการคลังดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2564 รวมถึง “ยกเลิก” การยึด หรืออายัดทรัพย์สินของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และผู้ร่วมฟ้องอีกคนหนึ่ง โดยศาลให้เหตุผลว่า ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า “ยิ่งลักษณ์” เป็นผู้สั่งการให้เกิดความเสียหายโดยตรง หรือมีเจตนาทุจริต อีกทั้งกระบวนการชี้ขาดสัดส่วนความรับผิดร้อยละ 20 ของความเสียหายก็ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ศาลเห็นว่า มีบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคนในมูลละเมิดกรณีโครงการรับจำนำข้าว ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ที่จะต้องดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้รับผิด และจำนวนค่าสินไหมทดแทน ที่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนต้องชดใช้ เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่อื่นที่มีส่วนต้องรับผิด ในมูลละเมิดเดียวกันกับผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดตามสัดส่วนเฉพาะในส่วนของตน แล้วจึงนำจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ต้องรับผิด มากำหนดสัดส่วนความรับผิดของแต่ละคน มิใช่พิจารณาเพียงเสนอความเห็นว่า “ผู้ฟ้องคดีที่ 1” ผู้เดียวเป็นผู้กระทำ โดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินไปยังศาลปกครองสูงสุดให้เป็นผู้ชี้ขาด ว่าจะยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หรือ “กลับคำตัดสิน” เนื่องจากมีความหมายไปถึงการเดินทาง “กลับบ้าน” ของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์

สำหรับมหากาพย์ทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ในยุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” นั้น มี 2 ประเด็นด้วยกัน คือ

1.คดีที่เกี่ยวกับนโยบายจำนำข้าว ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกดำเนินคดีใน 2 ส่วนคือ “คดีอาญา” ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 5 ปี ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว

ส่วน “คดีทางปกครอง” หรือ “ทางแพ่ง” นั้น ทางกระทรวงการคลังออกคำสั่งให้ชดใช้ความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท พร้อมกับออกคำสั่งอายัดทรัพย์ ซึ่งมีการอายัดทรัพย์สินไปแล้วบางส่วนก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ในส่วนของฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี ได้ยื่นอุทธรณ์ และศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 พ.ค.2568

2.คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายจำนำข้าว โดยมีผู้ถูกกล่าวหา 2 ราย คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ทั้งนี้ ในส่วน “คดีอาญา” บุคคลทั้งสอง ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาจำคุกไปแล้ว 42 ปี และ 36 ปีตามลำดับ ต่อมาทั้งสองได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเรื่อยมา กระทั่งได้รับการพักโทษเมื่อปี 2567-2568 ที่ผ่านมา

ส่วน “คดีทางแพ่ง” ทั้งสองคน ถูกฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ชดใช้ความเสียหายในโครงการนี้เช่นกัน รวมวงเงินราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งศาลปกครองกลาง (ชั้นต้น) พิพากษาให้ “บุญทรง-ภูมิ” ร่วมกับอดีตข้าราชการระดับสูง ชดใช้ความเสียหายไปแล้ว โดยให้รับผิดในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหายในแต่ละสัญญา เมื่อปี 2564 แต่ปัจจุบันมีการยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด

ดังนั้น ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ คือการชี้ชะตาว่าอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะต้องชดใช้ค่าความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวราว 3.5 หมื่นล้านบาท ตามคำสั่งของกระทรวงการคลังหรือไม่

อย่างไรก็ดี แม้ว่าถึงที่สุดหากคำพิพากษา “เป็นคุณ” กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ก็ไม่สามารถลบล้างโทษทางอาญา ที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาสั่งลงโทษจำคุก 5 ปี อีกทั้งตามกฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช. และศาลฎีกาฯ โทษทางอาญานี้ไม่มีอายุความ

เปิดสูตรคิดค่าเสียหาย จากคำสั่ง ‘ม.44’ สู่กลไกเรียกเงินคืน

ต้นทางของการดำเนินคดีนี้ย้อนกลับไปเมื่อ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 39/2558 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2558 เพื่อแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งครอบคลุมปีการผลิตตั้งแต่ 2548/2549 ถึง 2556/2557

คำสั่งดังกล่าวให้อำนาจคณะกรรมการในการตรวจสอบและดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยิ่งลักษณ์ และยังระบุว่า การดำเนินการของคณะกรรมการฯ ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และ ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 44 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ด้วยอำนาจตามคำสั่งนี้ คณะกรรมการฯ ได้กำหนดสูตรคำนวณค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวในแต่ละปีการผลิต โดยใช้วิธี

มูลค่าการรับจำนำข้าว – ความคุ้มค่าและประโยชน์ต่อเกษตรกร – มูลค่าที่ได้จากการระบายข้าว = ค่าเสียหายสุทธิ

ต่อมาจึงมีคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ให้ยิ่งลักษณ์รับผิดเฉพาะในปีการผลิต 2555/56 และ 2556/57 โดยไม่รวมปี 2554/55 และปี 2555 เนื่องจากเธอเพิ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยังไม่ปรากฏพฤติการณ์ประมาทร้ายแรงที่จะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

ปมคำนวณค่าเสียหายจากปีที่ไม่มีการระบายข้าว

ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ ปีการผลิต 2555/56 และ 2556/57 ไม่มีการระบายข้าว ทำให้ไม่มีข้อมูลสำคัญในการคำนวณค่าเสียหายตามสูตรนี้ได้อย่างชัดเจน อีกทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 211/2560 ยังวินิจฉัยว่า ยิ่งลักษณ์ไม่มีความผิดในภาพรวมของโครงการ แต่มีความผิดเฉพาะในกรณี ละเว้นให้เกิดการทุจริตในการระบายข้าวในปี 2554/55 และปี 2555 เท่านั้น

แต่หากศาลปกครองสูงสุดจะนำเอาคำพิพากษาในคดีอาญา ที่ตัดสินว่ามีการ ‘ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ’ ปล่อยให้บุญทรง กับพวกทุจริตในการระบายข้าวในปีการผลิต 2554/2555 และ ปี 2555 มาเป็นฐานในการคิดค่าเสียหาย ก็อาจเกิดคำถามว่าว่าจะเป็นการขัดหลักการของกฎหมายที่ว่าศาลจะไม่พิพากษาเกินคำขอ หรือไม่

ในคดีนี้ที่มีประเด็นพิจารณาค่าเสียหายเฉพาะปีการผลิต 2555/56 และ 2556/57 ที่ไม่มีส่วนของการระบายข้าว ที่สำคัญในคำฟ้องก็มิได้ปรากฏ ข้อเท็จจริงหรือคำสั่ง ที่จะต้องให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับค่าเสียหายในส่วนของปี 2554/2555 และ ปี 2555

คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นชี้คำสั่งคลังไม่ชอบ-หลักฐานไม่ชัด

ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหม รวมถึงเพิกถอนการยึดและอายัดทรัพย์ โดยให้เหตุผลว่า

“ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ายิ่งลักษณ์เป็นผู้สั่งการให้เกิดความเสียหาย หรือมีส่วนร่วมโดยตรง”

การกำหนดสัดส่วนให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดร้อยละ 20 ของมูลค่าความเสียหาย ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบราชการที่เกี่ยวข้อง

โครงการดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ แม้จะเป็นประธาน ก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจเพียงลำพัง

ศาลยังระบุด้วยว่า การที่หน่วยงานรัฐนำประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจมาใช้ประกอบคำสั่งเรียกค่าเสียหาย ไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายได้ และคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการก็ไม่มีอำนาจประเมิน ‘ความคุ้มค่าของนโยบาย’ โดยดูเพียงผลขาดทุนจากบัญชีการเงิน

ฝ่ายผู้ถูกฟ้องทั้ง 9 คน ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยหวังพลิกคำตัดสิน ซึ่งการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ จะเป็นจุดสิ้นสุดของกระบวนการในศาลปกครอง และอาจกลายเป็น “คดีตัวอย่าง” ในเรื่องขอบเขตความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในโครงการนโยบายของรัฐบาล

Related Articles