“รมว.กลาโหม” ย้ำ “ผบ.เหล่าทัพ” เคลียร์ให้ชัด! ปมทุจริตในหน่วยงาน หลังน้ำมันหาย 10,000 ลิตร ชี้อย่าอ้าง “น้ำมันระเหย” บอกได้ยินมานานแล้ว คุ้ยโกงสะบัดช่อ ปี 67 “สตง.” ฟันหน่วยงานสังกัด “กองทัพไทย” พบน้ำมันสูญหาย 4.5 แสนลิตร แถม “ไอ้โม่งลายพราง” ปลอมลายเซ็นเบิกจ่ายน้ำมัน 12 ครั้ง รวม 2 แสนลิตร ชง “ป.ป.ช.” สั่งเชือดแล้ว-เรียกค่าเสียหายคืนหลวง 18 ล้าน ล่าสุดถึงคิว “กองทัพบก” ส่อวุ่น! “อดีตผู้พันเสนารักษ์” ร้อง “ผบ.ทบ.” ยื่นอุทธรณ์คำสั่งย้ายไม่เป็นธรรม หลังตรวจเจอทุจริตน้ำมันเชื้อเพลิงในกองทัพ แต่ตัวเองโดนตั้งกรรมการสอบ-เด้งเข้ากรุตบยุง
จากกระแสข่าวที่หน่วยทหารมีน้ำมันหายประมาณ 10,000 ลิตร ซึ่งที่ผ่านมาจะมีลักษณะเช่นนี้เรื่อยๆ จะมีการสั่งตรวจสอบอย่างไรเพื่อไม่ให้กรณีนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า เรื่องแบบนี้ตนเคยได้ยิน แต่ไม่ใช่เพิ่งได้ยิน ได้ยินมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเมื่อวานซืน ตนได้พบกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ จากการเข้าถวายพระพรฯ จึงได้กำชับไปว่า เรื่องเหล่านี้ต้องทำให้ชัดเจน
ทั้งนี้ จากข่าวบอกว่าเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ไม่ทราบว่าเหล่าไหน ตนจึงได้พูดคุยกับทุกเหล่า ว่าช่วยไปทำตรงนี้ให้ชัดเจน ตรวจสอบให้หมด เพราะตนก็ยังไม่ได้เชื่อว่าเรื่องเป็นอย่างนี้หรือไม่ แต่นักข่าวสายทหารอาจจะทราบ ดังนั้นมีอะไรให้มาบอกตนได้ จะได้ตั้งตัว
เมื่อถามว่า ส่วนใหญ่เวลาตรวจสอบแล้ว มักมีคำอ้างว่าน้ำมันระเหย นายภูมิธรรม กล่าวว่า “โอ้โห ระเหย 10,000 ลิตร มันก็ต้องสมเหตุผล จะอ้างอะไร เราก็รับฟังและตรวจสอบ”

คุ้ยโกงสะบัด! ปี 67 สตง.ฟันหน่วยงาน ‘กองทัพไทย’ งาบน้ำมันดีเซล หลายแสนลิตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีกระแสข่าวการทุจริตน้ำมันเชื้อเพลิงในกองทัพ โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2567 สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 15 (จังหวัดสงขลา) ได้ตรวจสอบการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการขุดลอกลําน้ำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของหน่วยงานในสังกัด “กองบัญชาการกองทัพไทย” ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้จํานวน 6 โครงการ วงเงินงบประมาณ 23.07 ล้านบาท โดยมีค่าจัดซื้อน้ำมันดีเซล 557,247 ลิตร จํานวน 17.23 ล้านบาท โดยสรุปผลการตรวจสอบได้ดังนี้
1. การจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่นสูงกว่าความต้องการใช้จริง
โดยระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 มีการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง จํานวน 242,038 ลิตร และมีการเบิกน้ำมันเพื่อนําไปใช้ในการปฏิบัติงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ม.ค.65 จํานวน 19,054 ลิตร แต่จากการตรวจสอบสังเกตการณ์คลังน้ำมัน ณ วันที่ 24 ม.ค.65 พบว่ามีจํานวนน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือในคลังเพียง 32,350 ลิตร ซึ่งน้อยกว่าความเป็นจริงถึง 190,634 ลิตร จึงน่าเชื่อว่าได้มีการนําน้ำมันเชื้อเพลิงออกจากคลังโดยมิชอบ
ต่อมาหน่วยงานดังกล่าวได้มีการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและมีการทยอยส่งมอบอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนมิถุนายน 2565 รวมจํานวนทั้งสิ้น 557,247 ลิตร และจากการตรวจสอบบัญชีการเบิกและใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของโครงการดังกล่าว ปรากฏว่า ณ วันที่ 30 ก.ย.65 ได้มีการขนย้ายน้ำมันเชื้อเพลิงออกไปจากคลังเพื่อใช้ในการขุดลอกลําน้ำทั้งหมด 557,247 ลิตร โดยมีการบันทึกว่าได้เบิกน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งจํานวนให้กับเครื่องจักรถากถาง รถขุดตัก เครื่องจักรที่เช่ามาจากเอกชน และรถบรรทุกขนย้ายดินเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานขุดลอกลําน้ำ
แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ไม่มีการนําเครื่องจักรถากถาง เครื่องจักรที่เช่ามาจากเอกชน และรถบรรทุกขนย้ายดินมาใช้ในการปฏิบัติงาน และสามารถคํานวณจํานวนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการปฏิบัติงานขุดลอกลําน้ำทั้ง 6 โครงการ รวมกันเป็นจํานวนเพียง 102,680 ลิตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่จัดซื้อในรอบแรก จํานวน 242,038 ลิตร ก็เพียงพอสําหรับใช้ในโครงการขุดลอกลําน้ำทั้ง 6 โครงการแล้ว
พฤติการณ์จึงน่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีเจตนาร่วมกันจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงมากเกินกว่าความจําเป็นต้องใช้จริง จํานวนถึง 454,567 ลิตร และมีเจตนาที่จะนําน้ำมันเชื้อเพลิงจํานวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่น เข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา
2. การเบิกน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น ไม่เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ
จากการตรวจสอบการเบิกน้ำมันเชื้อเพลิงของโครงการขุดลอกลําน้ำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ปรากฏหลักฐานการขอเบิกน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนําไปใช้ในโครงการดังกล่าว ระหว่างวันที่ 12 พ.ย.64-วันที่ 24 ม.ค.65 จํานวน 12 ครั้ง รวมจํานวน 200,000 ลิตร “โดยมีการปลอมลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ที่ขอเบิกน้ำมันเชื้อเพลิง และมีการลงนามอนุมัติและสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง”
ในขณะที่ผู้ที่ถูกปลอมลายมือชื่อได้ให้ถ้อยคําปฏิเสธว่าไม่ได้เบิกน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว พร้อมให้ข้อมูลว่าตนได้เริ่มเบิกน้ำมันเชื้อเพลิงและให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติงานน้ำขนย้ายเครื่องจักรเข้าไปดําเนินการขุดลอกลําน้ำเมื่อวันที่ 12 ม.ค.65 เป็นต้นมา โดยใช้เครื่องจักรของทางราชการ ไม่มีการเช่าเครื่องจักรมาใช้แต่อย่างใด และใช้น้ำมันเชื้อเพลิงตามที่ปรากฏในบัญชีควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.-16 ก.พ. 65 รวมทั้งสิ้น 19,054 ลิตร จึงเห็นได้ว่าจํานวนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เบิกจ่ายไปกับจํานวนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการปฏิบัติงานจริงไม่สอดคล้องกัน
นอกจากนี้ สตภ.15 ยังตรวจพบความผิดปกติในการขนย้ายน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งตามประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กําหนดคุณลักษณะและระบบการทํางานของเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ สําหรับรถที่ใช้ในการขนส่งวัตถุอันตราย พ.ศ.2555 “กําหนดให้รถบรรทุกน้ำมันต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ (GPS)” แต่หน่วยงานดังกล่าวในสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย ได้ยกเลิกการติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ
“จึงน่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดําเนินการหรือมีส่วนรู้เห็นในการขนย้ายน้ำมันเชื้อเพลิงออกไปจากคลังน้ำมันโดยมิชอบ พฤติการณ์เข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา”

ส่อวุ่น! ‘ผู้พัน’ แฉตรวจเจอทุจริตน้ำมัน แต่โดนตั้งสอบ-เด้งพ้น ‘ทภ.2’
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 8 พ.ค.68 ที่ผ่านมา พันโท ธนเดช บุญสมยา ตำแหน่งประจำ พบ. (กรมแพทย์ทหารบก) อดีตผู้บังคับกองพันเสนารักษ์ที่ 6 สังกัด กองพลทหารราบที่ 6 (ผบ.พัน.สร.6) กองทัพภาคที่ 2 ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งในการปรับย้ายที่ไม่เป็นธรรม ต่อ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ. ผ่านสำนักงานเลขานุการกองทัพบก หลังไม่ได้รับความเป็นธรรมกรณีถูกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย เมื่อวันที่ 30 เม.ย.68
ส่งผลให้ พันโทธนเดช ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผบ.พัน.สร.6 ต้องถูกย้ายไป ประจำ พบ. (กรมแพทย์ทหารบก) สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.67 หลังเดินทางไปเข้าร่วมพิธีรับตำแหน่งใหม่ ในฐานะ ผบ.พัน.สร.6 ต่อจากผู้บังคับบัญชาท่านเดิม
โดยหลังรับตำแหน่งเพียง 3 วัน ได้จัดทำการสำรวจพิเศษ ทั้งอาวุธยุทธโธปกรณ์ ยานพาหนะ น้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงข้าวของเครื่องใช้สำคัญภายในหน่วย “ปรากฏพบความไม่ชอบมาพากล” ของจำนวนน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ซึ่งเป็นน้ำมันในส่วนของเชื้อเพลิงอัตราพิกัด ที่ต้องมีเตรียมพร้อมไว้ใช้เติมยานพาหนะหากมีสถานการณ์สู้รบ
“พบว่า จำนวนน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เชื้อเพลิงอัตราพิกัด ที่ต้องมีสำรองไว้ใช้ในสนามรบ ที่อยู่ในบัญชีควบคุม ทั้งสิ้น 9,013 ลิตร กลับเหลือเพียงเพียง 2,600 ลิตร ขาดหายไป 6,413 ลิตร เป็นมูลค่าความเสียหาย ในขณะวันที่สำรวจ มีราคา ลิตรละ 32.94 บาท รวมมูลค่า 211,244.22 บาท”
เป็นเหตุให้ต้องรีบทำบันทึกข้อความถึงผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เรื่องความไม่ชอบมาพากลของ ผลการสำรวจพิเศษในวาระที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ เพื่อป้องกันตวามเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทางราชการ แต่แทนที่ผู้บังคับบัญชาจะเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อหาตัวการที่ทำให้น้ำมันของทางราชการสูญหาย กลับพยายามทำการตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ทำสำรวจพิเศษ ซึ่งก็คือ พันโทธนเดช ที่เพิ่งไปรับตำแหน่งใหม่ และเป็นผู้ตรวจพบความไม่ชอบมาพากลเสียเอง
ซ้ำร้ายยังแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน พันโทธนเดช โดยมิชอบ ก่อนจะมีคำสั่งกองทัพบก ที่ 153/2568 เรื่องให้นายทหารรับราชการและปรับระดับเงินเดือน ส่งผลให้ถูกโยกย้ายไปประจำกรมแพทย์ทหารบก ห้อยท้ายด้วยเลขแสดงคุณวุฒิ ชกท.0009 ซึ่งหมายถึงนายทหารที่ได้รับการบรรจุเป็นกรณีพิเศษโดยไม่มีหน้าที่หรือภารกิจใดๆ ให้รับผิดชอบ ซึ่งการทำหนังสืออุทธรณ์คำสั่งครั้งนี้เป็นไปตามกฎระเบียบ ที่ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วัน เพื่อขอให้ ผบ.ทบ. ตรวจสอบที่มาที่ไปของเรื่องการทำสำรวจพิเศษ ที่ได้เคยรายงานเอาไว้ขณะดำรงตำแหน่ง ผบ.พัน.สร.6 จนพบน้ำมันอัตราพิกัดเกิดสูญหายไปถึง 6,413 ลิตร แต่ตนเองโดนกลั่นแกล้งจากผู้บังคับบัญชาในสังกัด ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนเสียเอง