Home Feature มองคอร์รัปชั่นไทย ผ่าน ‘คดีในมือ ป.ป.ช.’ เลวร้ายลง?

มองคอร์รัปชั่นไทย ผ่าน ‘คดีในมือ ป.ป.ช.’ เลวร้ายลง?

by admin

สถิติคอร์รัปชันจาก “รายงานสถานการณ์การทุจริตประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ 2567” ของ ป.ป.ช. บ่งบอกถึงพัฒนาการควบคู่ไปกับความเสื่อมถอยของสถานการณ์และการต่อต้านคอร์รัปชันโดยหน่วยงานรัฐ ซึ่งคาดว่า คอร์รัปชันในปี 2568 อาจไม่แตกต่างจากปี 2567 มากเท่าใดนัก โดย “กระทรวงศึกษาฯ” เป็นกระทรวงที่ต้องจับตามากที่สุด

ดร.มานะ นิมิตมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุถึงประเด็นสำคัญจากรายงานการทุจริตฯ ว่า

  1. เรื่องที่ถูกชี้มูลความผิดในปี 2567 มี 848 เรื่อง มูลค่าโครงการหรือความเสียหายรวมกันราว 409,355 ล้านบาท ขณะที่ปี 2566 มีเพียง 336,252 ล้านบาท โดยกลุ่มคดีด้านการจัดซื้อจัดจ้าง มีมูลค่ามากที่สุดถึง 403,007 ล้านบาท
  2. ปี 2567 ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนสูงสุดเป็นประวัติการณ์คือ 11,662 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 2562 – 2566 ถึง 19.47% ทั้งนี้คำกล่าวหา 84.49% เป็นเรื่องส่งมาจากองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เช่น สตช. ป.ป.ท. ดีเอสไอ สตง.
  3. เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติชี้มูลความผิดช่วงปี 2562 – 2567 รวมทั้งสิ้น 3,700 เรื่อง จำแนกเป็นปี 2562 จำนวน 293 เรื่อง ปี 2563 จำนวน 513 เรื่อง ปี 2564 จำนวน 1,076 เรื่อง ปี 2565 จำนวน 504 เรื่อง ปี 2566 จำนวน 466 เรื่อง และปี 2567 จำนวน 848 เรื่อง 

น่าสังเกตว่ากว่า 70% ของเรื่องร้องเรียนที่ ป.ป.ช. รับดำเนินการเอง จะถูกลงมติชี้มูลว่ามีความผิด

  • มีการชี้มูลความผิดเจ้าพนักงานของรัฐ 5,261 ราย ยึดทรัพย์จากคดีร่ำรวยผิดปรกติ 2,495 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับจากปี 2561 เป็นต้นมา (ปี 2566 ยึดได้ 1,690 ล้านบาท)
  • อปท. เป็นหน่วยงานที่ถูกกล่าวหามากที่สุด 1,550 เรื่อง (45.75%) รองลงมาเป็นมหาดไทย 375 เรื่อง (11.07%) ส่วนมากเกี่ยวกับเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ตามด้วยกระทรวงศึกษาฯ 198 เรื่อง (5.84%) และส่วนราชการอื่นๆ 1,265 เรื่อง (37.34%)
  • พฤติกรรมที่ถูกกล่าวหามากที่สุดคือ การจัดซื้อจัดจ้าง 1,451 เรื่อง (42.83%) รองลงมาคือ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เช่น ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ กระทำการเกินอำนาจหน้าที่ อนุมัติ/ไม่อนุมัติใบอนุญาตโดยมิชอบ ฯลฯ  617 เรื่อง (18.21%) และออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน 260 เรื่อง (7.67%) ตามลำดับ คำกล่าวหาที่พบน้อยที่สุด คือ การฝ่าฝืนจริยธรรม 48 เรื่อง (1.42%)
  • ป.ป.ช. มีเรื่องกล่าวหาคงค้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 11,527 เรื่อง (ปี 2566 ค้าง 13,000 เรื่อง)
  • มีคำร้องเรียน 4,323 เรื่อง ที่ ป.ป.ช. ส่งให้หน่วยงานอื่นไปดำเนินการแทน แยกเป็น ส่งให้ สตช. 1,152 เรื่อง สนง. ป.ป.ท. 731 เรื่อง ดีเอสไอ 41 เรื่อง และส่งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกร้องเพื่อดำเนินการทางวินัย 2,399 เรื่อง
  • มีบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินข้าราชการและนักการเมืองที่ต้องตรวจสอบ 21,476 บัญชี สามารถตรวจสอบแล้วเสร็จ 13,276 บัญชี (61.82%) คงค้างอีก 8,200 บัญชี (38.18%)
  • ขั้นตอน “ตรวจสอบเบื้องต้น” เมื่อมีผู้ยื่นร้องเรียนจนมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวน เฉลี่ยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 209 วัน (6 เดือน 29 วัน)
  • ขั้นตอน “ไต่สวนจนถึงการชี้มูลความผิด” ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2567 มี  เวลาเฉลี่ยในการดำเนินการ 2,014 วัน/เรื่อง (5 ปี 6 เดือน 9 วัน)
    •  “ก่อน” พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2561 บังคับใช้ มีเรื่องไต่สวนการทุจริตที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งแต่งตั้งให้ไต่สวนและมีมติชี้มูลการกระทำความผิด มีจำนวนทั้งสิ้น 1,832 เรื่อง โดยมีระยะเวลาเฉลี่ยในการดำเนินการทั้งสิ้น 2,014 วัน/เรื่อง (5 ปี 6 เดือน 9 วัน)  

ประเภทคดีที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการไต่สวนมากที่สุดคือ การออกเอกสารสิทธิที่ดิน โดยใช้เวลาเฉลี่ย 2,919 วัน/เรื่อง (7 ปี 364 วัน หรือราว 8 ปี) (น.60) รองลงมาคือ ร่ำรวยผิดปกติ ใช้เวลาเฉลี่ย 2,223 วัน/เรื่อง และสำหรับประเภทอื่น ๆ ใช้เวลาเฉลี่ย 1,600 – 2,100 วัน/เรื่อง (4 ปี 4 เดือน 20 วัน – 5 ปี 10 เดือน)

  1.  “หลัง” พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2561 บังคับใช้ มีเรื่องไต่สวนฯ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งแต่งตั้งให้ไต่สวนและมีมติชี้มูลการกระทำความผิด มีจำนวนทั้งสิ้น 1,868 เรื่อง ใช้เวลาเฉลี่ยในการดำเนินการทั้งสิ้น 869 วัน/เรื่อง (2 ปี 4 เดือน 19 วัน) (น.60,61)
  2. ประเภทคดีที่ใช้เวลาเฉลี่ยในการไต่สวนฯ มากที่สุด คือ คดีทุจริตในการจัดทำงบประมาณ/โครงการ/เบิกจ่ายเงินในโครงการเป็นเท็จ ใช้เวลาเฉลี่ย 1,044 วัน/เรื่อง รองลงมาคดีจัดซื้อจัดจ้าง ใช้เวลาเฉลี่ย 903 วัน/เรื่อง (2 ปี 5 เดือน 23 วัน)
  3. ประเภทคดีที่ใช้เวลาเฉลี่ยในการไต่สวนฯ น้อยที่สุด คือ การบริหารงานบุคคล (การบรรจุ/แต่งตั้ง/เลื่อนตำแหน่ง/โยกย้าย/การลงโทษทางวินัย) ใช้เวลาเฉลี่ย 398 วัน/เรื่อง หรือ 1 ปี 1 เดือน 3 วัน รองลงมาเป็นประเภทออกเอกสารสิทธิที่ดิน ใช้เวลาเฉลี่ย 628 วัน/เรื่อง หรือ 1 ปี 11 เดือน 23 วัน

ดร.มานะ ตั้งข้อสังเกตว่า ประการแรก มูลค่าโครงการและความเสียหายจากกคอร์รัปชันที่กล่าวในข้อ 1 ถูกเขียนไว้ในรายงานฯ หลายครั้ง แต่ “ไม่ตรงกัน” จำเป็นต้องฟังคำอธิบายเพิ่มเติมจาก ป.ป.ช.

ประการที่สอง ป.ป.ช. มองในแง่ดีว่า การที่มีผู้ร้องเรียนมากขึ้นตามข้อ 2 เป็นเพราะภาคประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของ ป.ป.ช. เพิ่มขึ้น จึงกล้าที่จะออกมาแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสเมื่อพบเหตุ

ประการที่สาม สถิติระยะเวลาทำคดีตามข้อ 10 ถึง 13 เป็นค่าเฉลี่ยของคดีทุกประเภท ทั้งใหญ่/เล็ก ยาก/ง่าย โกงคนเดียวหรือโกงเป็นทีม เช่น ยื่นบัญชีทรัพย์สิน นำทรัพย์สินราชการไปใช้ ร่ำรวยผิดปกติ การจัดซื้อฯ คอร์รัปชันเชิงนโยบาย ฯลฯ โดยไม่รวมคดีเก่าก่อนปี 2561 และไม่แยกคดีนักการเมือง ข้าราชการใหญ่ ผู้มีอิทธิพล คนดัง คนร่ำรวย นายก อบต. หรือ ครูชั้นผู้น้อย เป็นต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ปรากฏข่าวว่ามีหลายคดีที่ใช้เวลานานนับสิบปีถึงชี้มูลความผิดได้

ข้อมูลจากรายงานนี้ ทำให้มองได้ว่าคอร์รัปชันยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะคอร์รัปชันเชิงนโยบายที่สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติได้ครั้งละมากๆ ขณะที่ ป.ป.ช. มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการดำเนินงานทั้งป้องกันและปราบปราม การไต่สวนและการชี้มูลความผิด ประชาชนตื่นตัวร้องเรียนเมื่อพบเห็นพฤติกรรมคอร์รัปชันมากขึ้น

และเชื่อว่าเมื่อกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก (Anti-SLAPP Law) มีผลบังคับใช้ชัดเจนจะมีส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้ประชาชน สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐกล้าร้องเรียนและต่อต้านคนโกงมากขึ้น

Related Articles