“กำแพงภาษีทรัมป์” ส่งสัญญาณรีด “ไทย” 36% เริ่ม 1 ส.ค.นี้ “มะกัน” แง้มช่องเจรจา ขู่ห้ามตอบโต้! “ธีระชัย” ห่วงเศรษฐกิจไทยกระทบหนัก กังขาป้อง “นายทุนใหญ่” จี้รัฐบาลเปิดข้อมูลเจรจา-ยอมหั่นภาษีบางรายการเหลือศูนย์ ชงยาแรง! รื้อโครงสร้างผูกขาด ย้ำใช้เวลาที่เหลือปกป้องผลประโยชน์ชาติ ก่อนเศรษฐกิจไทยพังเพราะความล่าช้า-ไม่โปร่งใส “กอบศักดิ์” ชี้เป็น “คำเตือนที่รุนแรง” หลังข้อเสนอเดิม “ไม่ดีพอ” ลั่นยังไม่ถึงทางตัน! แนะรัฐเร่งแก้เกม-ลดพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ หวั่น “ไทย” เสียเปรียบคู่แข่งจากต้นทุนภาษีที่สูงกว่า แย้มทุนต่างชาติส่อย้ายหนีไปเวียดนาม ด้าน “ขุนคลัง” เปิดไพ่ใบสุดท้าย เทหน้าตักลดภาษี 90% ลุ้นพลิกเกมโค้งสุดท้าย
ไทยกำลังเผชิญโจทย์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ เมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทย “ทุกชนิด” ในอัตราสูงถึง 36% โดยจะมีผลบังคับใช้ 1 ส.ค.68 เป็นต้นไป ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าที่ส่งผ่านไทยไปยังประเทศที่สาม พร้อมส่งสัญญาณชัดเจนว่า “ห้ามใช้มาตรการตอบโต้” แต่ยังเปิดช่องให้เจรจาในโค้งสุดท้าย
ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ของสหรัฐฯ ระบุในจดหมายถึงรัฐบาลไทยว่า มาตรการดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าที่สหรัฐฯ มีต่อไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากนโยบายภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้าของไทย
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงเปิดช่องทางการเจรจา โดยเรียกร้องให้ไทยยกเลิกกำแพงภาษีและเปิดตลาดให้สินค้าอเมริกันมากขึ้น เพื่อแลกกับการทบทวนอัตราภาษีใหม่ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้ผู้ประกอบการไทยย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐฯ ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าว พร้อมเตือนว่าหากไทยใช้มาตรการภาษีตอบโต้ อัตราภาษีนั้นจะถูกนำไปรวมกับอัตรา 36% ที่สหรัฐฯ ประกาศไว้ ทั้งนี้ อัตราภาษียังสามารถปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับทิศทางความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในอนาคต

ในวันเดียวกันนี้ (8 ก.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และอดีต รมว.คลัง แสดงความกังวลต่อกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยในอัตราสูงถึง 36% โดยชี้ว่ามาตรการดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ได้รับสิทธิภาษีที่ดีกว่า ซึ่งอาจทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการดึงดูดนักลงทุน และกระทบเศรษฐกิจระยะยาว
สิ่งที่น่าห่วงยิ่งกว่า คือความไม่ชัดเจนของรัฐบาลในการเจรจากับสหรัฐฯ เพราะก่อนหน้านี้รัฐมนตรีคลังเพิ่งปฏิเสธข่าวลือเรื่องการขึ้นภาษี พร้อมให้ความหวังว่าจะเคลียร์ปัญหาได้ภายในวันที่ 9 ก.ค. แต่กลับมีการยืนยันมาตรการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นทางการแล้ว สร้างความสับสนทั้งต่อประชาชนและภาคธุรกิจ พรรค พปชร.เห็นว่ารัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลการเจรจาอย่างตรงไปตรงมา เพราะเรื่องนี้ไม่ได้กระทบแค่การค้าระหว่างประเทศ แต่เชื่อมโยงถึงนโยบายอุตสาหกรรม การลงทุน และโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ
นายธีระชัยยังตั้งข้อสังเกตว่า ไทยยังใช้แนวทางเจรจาแบบเดิม เช่นการเสนอซื้อสินค้าแลกเปลี่ยน ซึ่งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของ ปธน.ทรัมป์ ที่ต้องการแสดงผลสำเร็จนโยบายกีดกันทางการค้า
โดยยกตัวอย่างเวียดนาม ที่สามารถเสนอลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐเหลือ 0% ทำให้ทรัมป์นำไปใช้เป็นเครดิตทางการเมืองได้ ดังนั้นไทยอาจต้องเจรจาลดภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ลงเป็นศูนย์บางรายการ พร้อมเร่งรื้อโครงสร้างผูกขาดภายในประเทศ เช่น กลุ่มสินค้าอาหารสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยอยู่รอด ไม่ใช่เปิดช่องให้ทุนใหญ่ผูกขาดเพียงฝ่ายเดียว
นายธีระชัย กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งกำหนดจุดยืนอย่างชัดเจน ใช้เวลาที่เหลือก่อน 1 ส.ค.ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมย้ำว่า “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ต้องตั้งอยู่บนหลักความโปร่งใส เป็นธรรม และยั่งยืน ไม่ใช่แค่การอ้างความลับเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ด้าน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า แม้จะรู้สึกตกใจกับข่าวนี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากใกล้ถึงกำหนดเส้นตายในวันที่ 9 ก.ค.68 ซึ่งในส่วนนี้ สหรัฐฯ ยังไม่ได้พิจารณาข้อเสนอใหม่ที่ไทยส่งไปล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มีข้อมูลเปรียบเทียบว่า สหรัฐฯ ได้ปรับลดอัตราภาษีที่เรียกเก็บจากประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ ยกเว้นประเทศไทยและอินโดนีเซีย ที่ยังคงอัตราเดิมไว้
“การประกาศของสหรัฐฯ เป็นไปเพื่อเร่งให้การเจรจามีความเข้มข้นขึ้น ตนเชื่อมั่นว่าอัตราภาษีสุดท้ายจะต่ำกว่า 36% อย่างแน่นอน โดยทั้งสองฝ่ายมีเวลาในการเจรจาต่อรองอีกประมาณ 20 วันก่อนมาตรการจะมีผลบังคับใช้”
รมว.คลัง กล่าวถึงข้อเสนอที่ยื่นให้แก่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ว่าเป็นข้อเสนอที่ปรับปรุงใหม่ หลังจากได้รับการให้ข้อสังเกตจากการเจรจารอบก่อน โดยมีสาระสำคัญคือ ลดภาษีนำเข้าให้กับสินค้าจากสหรัฐฯ 90% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่นำเข้ามายังประเทศไทย ขณะที่สินค้าบางรายการจะปรับลดภาษีเป็นศูนย์ และมีสินค้าประมาณ 10% ที่ไทยยังจำเป็นต้องคงอัตราภาษีไว้ เพื่อดูแลผู้ประกอบการในประเทศ และป้องกันผลกระทบต่อข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำไว้กับประเทศอื่น
นอกจากการเจรจาเร่งด่วนแล้ว “รมว.คลัง” ยังได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ระยะยาวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกที่กระจุกตัวในบางตลาด และหันมาสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตร
“เครื่องจักรทางเศรษฐกิจอีกตัวที่ไทยเหลืออยู่คือการท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องมีการปรับทัพใหม่ขนาดใหญ่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวกลับมา” นายพิชัย ระบุ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ชี้ว่าตัวเลขภาษี 36% ที่ไทยได้รับจากสหรัฐฯ ถือเป็น “คำเตือนที่รุนแรง” และเป็นสัญญาณชัดเจนว่าข้อเสนอที่ไทยยื่นให้ก่อนหน้านี้ยังไม่ใช่ข้อตกลงที่ดี (Good Deal) ในมุมมองของทรัมป์ โดยรัฐบาลจะต้องทำการบ้านเพิ่มเติม เพื่อกลับไปเจรจาใหม่ ไม่อย่างนั้นผลลัพธ์อาจจะ “จบที่เดิม”
นอกจากนี้ นายกอบศักดิ์ ยังระบุว่า “สหรัฐฯ อาจไม่ถอยอีก” เนื่องจากตลาดได้รับรู้ตัวเลขเหล่านี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง และผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวมา 90 วัน หากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่ปรับตัวลงอย่างรุนแรงในช่วง 2-3 วันข้างหน้า ก็ยากที่จะเปลี่ยนใจ ปธน.ทรัมป์ได้”
นายกอบศักดิ์ กล่าวเสริมว่า “ไทยเสียเปรียบคู่แข่ง” หากเวียดนามถูกเก็บภาษี 20% และมาเลเซีย 25% ประเทศไทยจะอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบด้านต้นทุนภาษีถึง 10-16% ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ส่งออก อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อการลงทุน หากว่าไทยมีต้นทุนภาษีสูงกว่าคู่แข่ง จะมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติ เพราะนักลงทุนอาจเลือกไปสร้างโรงงานในประเทศที่มีต้นทุนภาษีถูกกว่า เช่น เวียดนาม
นายกอบศักดิ์ ชี้ถึงทางออกในเรื่องนี้ว่า ให้เร่งเจรจารอบใหม่ พร้อมข้อเสนอที่ดีกว่าเดิม, มองหาตลาดใหม่ ลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนส่งออกสูงถึง 18% แล้วหันไปบุกตลาดอื่นที่มีศักยภาพ เช่น จีน อินเดีย หรือตะวันออกกลาง รวมถึงการรักษาเสถียรภาพ ซึ่งรัฐบาลต้องประคองเศรษฐกิจในประเทศให้ดี เพื่อรับมือกับความผันผวนจากภายนอก
พร้อมย้ำว่า “แม้สถานการณ์จะน่าเป็นห่วง แต่ยังไม่ถึงทางตัน และยังมีโอกาสในการเจรจา เพียงแต่รัฐบาลต้องเคลื่อนไหวให้เร็วและมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนกว่านี้”