สภาฯ โหวตคว่ำ 2 ร่างนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย! ของ “พรรคส้ม-ภาค ปชช.” ที่ถูกตีตกไป ด้วยเหตุครอบคลุมคดีการเมืองทั้งหมด-มาตรา 112 พร้อมเคาะ “รับหลักการ” 3 ร่างฉลุย เตรียมตั้ง กมธ. 32 คน ยกร่างฯ วาระ 2-3 “เท้ง” ประกาศสู้ต่อในชั้น กมธ. ย้ำจุดยืน “นิรโทษกรรมต้องไม่เลือกปฏิบัติ” ขีดเส้นใต้ ไม่โหวตผ่านหากเนื้อหาลำเอียง! ปูดเบื้องหลังโหวตร่างนิรโทษฯ “สส.ฝั่งรัฐบาล” ยังเหนียวแน่น รวมถึง “ภท.” ในซีกฝ่ายค้าน อึ้ง! “6 สส.เสื้อแดง” โหวตหนุนร่าง “ชัยธวัช-ภาค ปชช.” ขณะที่ 14 เสียง “ก๊วนสุชาติ” งดออกเสียงให้พรรคตัวเอง
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (16 ก.ค.) ได้มีวาระสำคัญในการพิจารณาและลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทางการเมือง จำนวน 5 ฉบับ หลังจากที่ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางมาแล้วก่อนหน้านี้
หลังจากการอภิปรายสรุปของผู้เสนอร่างฯ แต่ละฉบับ ที่ประชุมได้ใช้วิธีการลงมติเป็นรายฉบับ ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ “รับหลักการ” ในวาระที่หนึ่ง จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่
1.ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) รับหลักการ 299 เสียง งดออกเสียง 172 เสียง
2.ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย รับหลักการ 311 เสียง ไม่รับ 3 เสียง งดออกเสียง 147 เสียง
3. ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เสนอโดยพรรคกล้าธรรม รับหลักการ 311 เสียง งดออกเสียง 158 เสียง
โดยทั้ง 3 ฉบับนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สส.ส่วนใหญ่ในสภาฯ เนื่องจากมีเนื้อหาและขอบเขตที่ไม่ครอบคลุมถึงคดีทุจริต และคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมสภาฯ มีมติ “ไม่รับหลักการ” ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีก 2 ฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมถึงคดีทางการเมืองทั้งหมด รวมถึงคดีตามมาตรา 112 ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่เสนอโดยพรรคประชาชน มีมติ “ไม่เห็นด้วย” 319 เสียง ต่อ 147 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่เสนอโดย “ภาคประชาชน” ซึ่งได้เข้าชื่อรวมกัน 36,000 คน โดยสภาฯ มีมติไม่เห็นด้วย 306 เสียง ต่อ 149 เสียง และงดออกเสียง 20 เสียง
ทั้งนี้ ภายหลังการลงมติ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้แจ้งว่า ขั้นตอนต่อไปคือการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ จำนวน 32 คน ซึ่งจะประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี (ครม.) 8 คน, พรรคเพื่อไทย 7 คน, พรรคประชาชน 7 คน, พรรคภูมิใจไทย 3 คน, พรรครวมไทยสร้างชาติ 2 คน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคประชาชาติ, พรรคกล้าธรรม และพรรคไทยสร้างไทย จะได้พรรคละ 1 คน เพื่อนำร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับที่สภาฯ “รับหลักการ” ไปพิจารณาในรายละเอียด แล้วยกร่างเป็นร่างฉบับเดียวเพื่อเสนอให้สภาฯ พิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประกาศพร้อมนำพรรคประชาชน (ปชน.) สู้ต่อในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ แม้ผิดหวังที่สภาฯ มีมติตีตกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของพรรค และภาคประชาชน โดยชี้ว่าการนิรโทษแบบเลือกปฏิบัติจะไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้จริง
หัวหน้าพรรค ปชน. ยอมรับว่า ผลการลงมติสร้างความผิดหวังให้แก่ประชาชนจำนวนมาก แต่ยังเชื่อมั่นในกระบวนการรัฐสภา โดยมองว่าร่างกฎหมาย 2 ใน 3 ฉบับที่ผ่านวาระแรกยังมีหลักการที่เปิดกว้างพอที่จะผลักดันให้ครอบคลุมทุกฝ่ายได้ พร้อมยืนยันจะใช้ทุกกลไกในชั้น กมธ. เพื่อเปิดประตูการนิรโทษกรรมให้กว้างที่สุด
นายณัฐพงษ์ กล่าวแสดงความเสียดายต่อร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนที่ถูกปัดตกไป โดยชี้ว่า ที่ตนคาดหวังให้ผ่านมากที่สุด ไม่ใช่ของพรรคประชาชนด้วยซ้ำ เพราะคิดว่าอย่างน้อยหากภาคประชาชนผ่าน สัดส่วนของกรรมาธิการที่จะพิจารณาต่อในวาระที่ 2 ก็จะมีภาคประชาชนเข้าไปด้วย
พร้อมกันนี้ ผู้นำฝ่ายค้านได้ประกาศจุดยืนและขีดเส้นตายอย่างชัดเจนว่า หากร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาในชั้น กมธ. และเข้าสู่วาระ 3 ยังคงเป็นร่างที่เลือกปฏิบัติ พรรคประชาชนจะไม่สามารถให้ความเห็นชอบได้
“หากกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 3 และหากเป็นร่างกฎหมายที่เลือกปฏิบัติ ไม่ครอบคลุมทุกฝ่ายจริงๆ เราคงไม่สามารถที่จะเห็นชอบได้ แต่วันนี้กระบวนการยังไม่ถึงที่สิ้นสุด เราเองก็ทิ้งความหวังไม่ได้ พรรคประชาชนจะทำหน้าที่อย่างมีวุฒิภาวะ และพร้อมผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้ได้มากที่สุดในอายุของสภาฯ ที่เหลืออยู่” ผู้นำฝ่ายค้านฯ ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงผลการลงมติเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทั้ง 5 ฉบับ ซึ่งในร่างที่ 1 (พรรครวมไทยสร้างชาติ) ,ร่างที่ 2 (พรรคกล้าธรรม) และร่างที่ 5 (พรรคภูมิใจไทย) พบว่า สส.พรรคร่วมรัฐบาล ลงมติเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคภูมิใจไทย ก็ให้ความเห็นชอบด้วย ขณะที่พรรคประชาชน และพรรคพลังประชารัฐ ลงมติงดออกเสียงทั้ง 3 ร่าง
ทั้งนี้ ร่างที่ 1 ของนายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรค รทสช. เป็นที่น่าสังเกตว่ามี 14 เสียง ในกลุ่มของนายสุชาติ ชมกลิ่น สส.บัญชีรายชื่อ พรรค รทสช. ลงมติ “งดออกเสียง” ในร่างกฎหมายที่พรรคเดียวกันเป็นผู้เสนอ และร่างที่ 5 ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้มี สส.พรรคเพื่อไทย จำนวน 3 คน ได้แก่ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์, นายก่อแก้ว พิกุลทอง และนายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ที่ลงมติไม่เห็นด้วย กับร่างฉบับนี้
ขณะที่ร่างที่ 3 คือร่างของพรรคประชาชน (ปชน.) ที่มีนายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ และร่างที่ 4 ของภาคประชาชนนั้น พบว่าพรรคร่วมรัฐบาลลงมติ “ไม่เห็นด้วย” เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่พรรคประชาชนลงมติเห็นด้วยกับทั้ง 2 ร่าง
อย่างไรก็ตาม มี 6 สส.เสื้อแดง ของพรรคเพื่อไทย ลงมติเห็นด้วยกับทั้ง 2 ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้แก่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นพ.ทศพร เสรีรักษ์, นายอดิศร เพียงเกษ, นายสุธรรม แสงประทุม, นพ.เชิดชัย และนายก่อแก้ว รวมถึงนายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.สตูล พรรคภูมิใจไทย ที่ลงมติเห็นด้วยกับร่างนิรโทษกรรม ที่เสนอโดยภาคประชาชน ทั้งที่ได้ลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างนิรโทษกรรม ที่เสนอโดยนายชัยธวัช
ต่อมา นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ได้ชี้แจงถึงการโหวตแล้วว่า เป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากฟังไม่ชัดเจนขณะลงมติ และเข้าใจผิดว่าเป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และสมาชิกพรรคที่เป็นผู้เสนอ