DSI-ปปง. ลุยล้างบางเครือข่าย “ฮั้วเลือก สว.” เผยคืบหน้าแล้ว 70% จ่อฟัน “อั้งยี่-ฟอกเงิน” ล็อกเป้าผู้ต้องสงสัยกว่า 100 ชีวิต ชี้หลักฐานมัดแน่น สาวเส้นเงิน! พบโอนเงินก้อนโตให้ “คนลงสมัคร” เข้าคูหา “กาตามโพย” ลั่นโยงถึงนักการเมืองท้องถิ่นกว่า 30 จังหวัด พร้อมขยายผลโยงคนใกล้ชิด-นักการเมืองระดับชาติ “ยุทธนา” ลั่นอีก 1 เดือนเตรียมแจ้งข้อหาล็อตแรก
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยความคืบหน้าคดีฮั้วเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่าการสอบสวนคืบหน้าแล้ว 70% พบผู้เข้าข่ายกระทำความผิดในข้อหา “อั้งยี่-ฟอกเงิน” มากกว่า 100 ราย โดยมีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงถึงนักการเมืองท้องถิ่นในกว่า 30 จังหวัด และอาจขยายผลถึงนักการเมืองระดับประเทศ คาดว่าจะสามารถเรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาได้ภายใน 1 เดือน
พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับ ปปง. และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 24/2568 ว่า ขณะนี้ได้สอบปากคำพยานไปแล้วรวม 90 ปาก ทั้งกลุ่มผู้วางแผนและผู้รับโอนเงิน ซึ่งพบความเชื่อมโยงที่ชัดเจน
“ก่อนหน้านี้ พยานเคยปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องคดีฮั้ว สว. อ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายปกติ แต่เรายืนยันพบพฤติการณ์ เพราะช่วงเลือกตั้ง สว. มีการรับโอนเงินก้อนใหญ่กระจายไปยังบุคคลอื่นๆ หลายสิบเส้นทางการเงิน และมีคนไปลงสมัคร สว. ในช่วงนั้น และเลือกคนที่อยู่ในโพย ซึ่งโยงใยกันในหลายเรื่อง” พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าว
อธิบดีดีเอสไอระบุว่า พฤติการณ์ของผู้กระทำผิดเข้าข่ายทั้งความผิดฐานอั้งยี่ (รวมกลุ่มเพื่อกระทำการอันมิชอบ) และการฟอกเงิน (โอนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับความผิด) โดยเงินบางส่วนที่ใช้ในการจัดฮั้ว ยังถูกโอนกลับไปยังกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งผู้ช่วยหรือที่ปรึกษาประจำตัว สว.อีกด้วย
ทั้งนี้ ดีเอสไอยังไม่ออกหมายเรียกผู้ต้องหาเนื่องจากอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานให้รัดกุมที่สุด คาดว่าในอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า จะสามารถเรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาได้
อย่างไรก็ตาม ขอไม่ออกความเห็นเกี่ยวกับมติของคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวนส่วนกลาง คณะที่ 26 ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แม้จะมีเจ้าหน้าที่จากดีเอสไอเข้าไปร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย โดยหลักการแล้วจะไม่ยึดโยงกัน แต่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าหากบุคคลใดถูกดำเนินคดีในส่วนของ กกต.แล้ว จะต้องถูกดำเนินคดีอั้งยี่และฟอกเงินด้วย แต่ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน
ด้านนายวิทยา นีติธรรม ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ปปง.ได้เข้าร่วมให้ความเห็นทางคดีเกี่ยวกับความผิดมูลฐานฟอกเงิน และเกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน แบ่งเป็น 1.ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด 2.ทรัพย์สินที่ช่วยสนับสนุนการกระทำความผิด และ 3.บุคคลที่เกี่ยวข้องกับตัวทรัพย์สิน “เป็นเรื่องของคดีอาญาฟอกเงิน ฉะนั้นเมื่อถึงวันที่ดีเอสไอต้องดำเนินคดีฐานอั้งยี่-ฟอกเงินกับบุคคลใด ปปง.จะเข้ามาตรวจสอบเพื่อสืบทรัพย์สินและออกคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่อไป” ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง.ระบุ