เปิดผลสอบจัดซื้อ “เครื่องออกกำลังกาย” ส่อทุจริต! ปูด “7 โครงการฉาว” พบมีข้าราชการเอี่ยว 25 ราย-ชิงลาออกแล้ว 1 กทม.ยันเดินหน้าสอบวินัยร้ายแรง “ชัชชาติ” ชี้ซื้อแพงเกินจริง-ส่อฮั้วประมูล ชงหน่วยงานปราบโกงฟันอาญา
นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อํานวยการศูนยปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) แถลงผลสืบสวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของศูนย์กีฬา กทม. หลังครบเวลาสอบสวน 30 วัน
รองปลัด กทม. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา กทม.ได้รับการร้องเรียนผ่านสื่อว่าการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของศูนย์กีฬา กทม. แพงเกินจริง จากนั้น ศตท.กทม รับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้สำนักงานตรวจสอบภายใน สำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมตรวจสอบด้วย จากนั้นวันที่ 11 มิ.ย. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้รายงานผล พร้อมข้อเสนอ 2 ทาง โดยทางแรก คือ การสอบสวนพบว่ามีมูลต่อการทุจริตอาจผิดกฎหมาย เรื่องของการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐซึ่งเรื่องนี้ ศตท.กทมได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป เนื่องจากเป็นเรื่องของความผิดเกี่ยวกับความผิดการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐทาง ป.ป.ช.มีอำนาจในการดำเนินการ
ส่วนอีกทาง ศตท.กทม.นำรายงานผลการสอบสวนเบื้องต้นส่งให้ปลัด กทม. เพื่อดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงโดยผู้ว่าฯ กทม. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เมื่อ 17 มิ.ย.67 โดยให้ระยะเวลาสอบสวน 30 วัน และให้รายงานผลทุก 7 วัน
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ดำเนินการสืบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง จำนวน 7 โครงการ ช่วงปีงบประมาณปัจจุบัน ได้แก่
1.โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 21 รายการ สำหรับศูนย์กีฬาอ่อนนุช วงเงินงบประมาณ 15.69 ล้านบาท
2.โครงการฯ สำหรับศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา วงเงิน 12.11 ล้านบาท
3.โครงการฯ สำหรับศูนย์กีฬามิตรไมตรี วงเงิน 11.01 ล้านบาท
4.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 11 รายการ ของศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ วงเงิน 4.99 ล้านบาท
5.โครงการฯ สำหรับศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ วงเงิน 4.99 ล้านบาท
6.โครงการฯ สำหรับศูนย์นันทนาการ สังกัดส่วนนันทนาการ วงเงิน 17.9 ล้านบาท
7.โครงการฯ สำหรับศูนย์นันทนาการวัดดอกไม้ วงเงิน 11.52 ล้านบาท
และนำเสนอผลสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา จากการสอบสวนพยานบุคคลและเอกสาร พบว่าข้อเท็จจริงมีมูล “ราคาแพงเกินจริง” สูงกว่าราคาท้องตลาดและราคาสูงกว่าการจัดซื้อในปีก่อนๆ หากเปรียบเทียบราคาต้นทุนกับค่าดำเนินการแล้ว ยังสูงกว่าราคาต้นทุนและค่าดำเนินการเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ มีรายละเอียดสินค้าเกินความจำเป็น คุณลักษณะจำเพาะหรือสเปคของเครื่องออกกำลังกายมีการปรับสเปคให้สูงขึ้นจากเดิมกว่าที่เคยจัดซื้อ เช่นเพิ่มกำลังแรงม้า เพิ่มโปรแกรมออกกำลังกาย เพื่อรองรับน้ำหนัก และปรับจอแสดงผลระบบสัมผัส เป็นต้น โดยวิธีการจะมีการสืบราคาจากผู้ประกอบการ 3 ราย ให้ราคาต่ำสุดเป็นราคากลาง โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นและการใช้งานจริง ส่งผลให้การกำหนดราคาสูงเกินความจำเป็น
ขณะเดียวกัน ยังพบว่ามีการกำหนดรายละเอียดบริษัทผู้ร่วมประมูลเกินความจำเป็น มีข้อกำหนดที่ไม่เปิดกว้างให้เสนอราคาอย่างเท่าเทียม เช่น การกำหนดให้แนบหนังสือรับรองผลงานและสำเนาสัญญาซื้อขายที่ทำกับภาครัฐไม่น้อยกว่า 40 สัญญาในวันเสนอราคา โดยมีระยะเวลานับย้อนหลังไม่เกิน 2 ปี การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเพิ่มเติมเกินกว่าแนวทางที่คณะกรรมการการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารภาครัฐ เกินกว่าแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด อาจมีผลทำให้ราคาการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายมีราคาแพงเกินควร
อีกทั้งพบว่า มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย และเกี่ยวข้องกับการพิจารณางบประมาณ รวมทั้งการดำเนินการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายทั้งหมด 25 ราย และมี 1 ราย ลาออกจากราชการไปแล้ว โดยไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการและพิจารณางบประมาณ โดยคำนึงถึงหลักความคุ้มค่าที่จะต้องมีคุณภาพหรือสเปคตอบสนองต่อวัตถุประสงค์การใช้งาน และต้องมีราคาที่เหมาะสม และขั้นตอนในการกลั่นกรองงบประมาณ ไม่ได้ทักท้วงเกี่ยวกับประเด็นเรื่องราคาดังกล่าวแต่อย่างใด
ซึ่งเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ รายงานผลมายังปลัด กทม. จากนั้นจึงมีคำสั่งย้ายผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อทั้ง 7 โครงการ ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับหลักฐานการดำเนินการทางวินัย พร้อมทั้งเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามกฎ ก.ก.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2565 โดยเมื่อแต่งตั้งคณะกรรมการแล้วเสร็จ จะต้องดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน สามารถขยายเพิ่มได้ 60 วัน และจะพิจารณาลงโทษต่อไป
ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวยอมรับว่า เรื่องความไม่โปร่งใสของ กทม.ยังมีอยู่ เป็นเรื่องที่อาจติดมานาน ซึ่งผลสอบสวนคือ มีมูล! ราคาสูงจริง และมีข้อกำหนดบางอย่างที่อาจเกินความจำเป็นไป มีผู้เกี่ยวข้อง 25 ราย ซึ่งได้มีการย้ายออกไปแล้ว 3 ราย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอำนาจโดยตรง เพื่อไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับการสอบสวน จากนี้ปลัด กทม.จะออกคำสั่งตั้งกรรมการสอบทางวินัยต่อไป
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ต้องเดินไป 2 ทาง กทม.ดูเรื่องทางวินัย ซึ่งต้องไปดูว่าผิดอย่างไร ทำตามระเบียบหรือไม่ ส่วนเรื่องทุจริตเป็นคดีอาญา เป็นเรื่องของ ป.ป.ช. ,สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่จะดำเนินการคู่ขนานกันไป “ยืนยันว่าเราเอาจริงเอาจัง และฝากเรื่อง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ที่ใช้กันทุกวันนี้ ทุกหน่วยงานใช้เหมือนกันหมด ถ้ามีช่องโหว่ตรงไหน ไม่ได้มีเฉพาะ กทม. จึงขอฝากให้เรื่องนี้เป็นแคมเปญใหญ่ ทั้ง สส. สภาใหญ่ สภา กทม. ช่วยกันให้เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ สุดท้ายอาจต้องไปปรับแก้เรื่องระเบียบต่างๆ พร้อมเดินหน้าขอลุยเต็มที่และไม่ไปเอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว