สตง.ภาค 5 รับเรื่องสอบงบธนาคารน้ำใต้ดิน อบจ.นครพนม กว่า 800 โครงการ วงเงิน 433.5 ล้านบาท ชาวบ้านร้องตรวจสอบ ชี้ไม่เกิดประโยชน์-ใช้งบไม่คุ้มค่า เผยตั้งงบโครงการไม่เกิน 5 แสน-ใช้วิธี “ตกลงราคาจ้าง” นับร้อยโครงการ ส่อทุจริตเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมาบางราย
กรณีมีชาวบ้านในพื้นที่ออกมาร้องเรียนให้สำนักตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จ.นครพนม ตรวจสอบความคุ้มค่าเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ โครงการขุดลอกธนาคารน้ำใต้ดิน อบจ.นครพนม ในช่วงระหว่างปี 2565–2567 มีการจัดสรรงบประมาณ ดำเนินการ กว่า 867 โครงการ รวมเป็นเงินงบประมาณ 433.5 ล้านบาท ซึ่งเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ” และชาวบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์จริง จึงต้องการให้หน่วยงาน ปปช.นครพนม รวมถึงสำนักตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบความคุ้มค่า รวมถึงตรวจสอบป้องกันการทุจริต เนื่องจากมีการจัดซื้อจัดจ้างแบบตกลงราคา โครงการละไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน ส่อต่อการแสวงประโยชน์จากโครงการ อีกทั้งยังพบข้อพิรุธในโครงการหลายอย่าง ทั้งปริมาณงาน ไม่มีการระบุชัดเจน รวมถึงไม่มีการตรวจสอบลงประชามติจากชุมชน และเป็นการนำงบประมาณลงไปดำเนินการในพื้นที่ส่วนบุคคล เป็นส่วนใหญ่
ล่าสุด ทางสำนักตรวจเงินแผ่นดิน จ.นคพรนม ได้รับเรื่องร้องเรียน พร้อมประสานเสนอเรื่องไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 5 จ.อุบลราชธานี ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มาของโครงการ รวมถึงความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ เพื่อดำเนินการตรามกฎหมายต่อไป เนื่องจากเป็นการใช้งบประมาณเกิน 3 ล้านบาท ถือว่าเกินอำนาจหน้าที่สำนักตรวจเงินแผ่นดิน จ.นครพนม ต้องส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 5 ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เพื่อจะดำเนินการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ขณะเดียวกัน จากการลงพื้นที่ของผู้สื่อข่าวตามข้อร้องเรียน พบพิรุธเกี่ยวกับโครงการหลายอย่าง อาทิ การจัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่ จะใช้งบอยู่ที่ประมาณ 4.9 แสนบาท แต่ไม่มีการระบุปริมาณ คิวดิน ให้ชัดเจน รวมถึงงานขุดบ่อธนาคารใต้ดินหลายจุด มีป้ายโครงการไม่ตรงกับพื้นที่จริง เช่นเดียวกับโครงการธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ ต.โพนทอง อ.บ้านแพง จ.นคพรนม แต่ป้ายโครงการระบุ ต.บ้านแพง อ.บ้านแพง จ.นครพนม โดยถือว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
นอกจากนี้ ยังพบว่าบริษัทผู้รับจ้างส่วนใหญ่ จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นมาไม่กี่เดือน ก่อนอนุมัติโครงการ รวมถึงเป็นบริษัทผู้รับจ้างรายเดียวกัน แต่รับงานหลายโครงการ ถือว่า “ส่อทุจริต” มีช่องว่างเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน ที่เป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มผู้บริหารหรือไม่ ทั้งนี้ ถือเป็นประเด็นสำคัญที่มีตัวแทนชาวบ้านส่งหลักฐานร้องเรียนกับ ทาง ปปช.นครพนม สอบข้อเท็จจริง ป้องกันการทุจริต แสวงประโยชน์จากโครงการ