“ศาลรัฐธรรมนูญ” เปิดคำวินิจฉัยกลาง “คดีหุ้นไอทีวี” พร้อมคำวินิจฉัยส่วนตน “นครินทร์” ตุลาการเสียงข้างน้อย-ว่าที่ประธานศาลฯ ชี้ไม่พบ “ไอทีวี” มีเจตนาเลิกบริษัท “พิธา” ไร้หลักฐานยืนยัน ถือหุ้นแทนทายาทอื่น มีลักษณะต้องห้ามในวันสมัคร เป็นเหตุให้สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกลางในคดีที่ศาลมีมติ 8 ต่อ 1 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ “ไม่สิ้นสุดลง” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จากเหตุมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) เนื่องจากในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ต่อ กกต. แม้นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นใน บมจ.ไอทีวี แต่ข้อเท็จจริงในทางไต่สวนรับฟังได้ว่า บมจ.ไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการ หรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดแล้ว
ขณะเดียวกันก็ได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ซึ่งคดีนี้ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ว่าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นตุลาการเสียงข้างน้อยเพียงคนเดียว ที่เห็นว่าการที่นายพิธามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา สิ้นสุดลง
โดยคำวินิจฉัยส่วนตนของนายนครินทร์ ระบุเหตุผลตอนหนึ่งว่ากรณีนี้เมื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ยังไม่ดำเนินการใดๆ อันจะถือได้ว่ามีเจตนาที่จะเลิกบริษัท ก็ยังต้องถือว่ามีเจตนาที่จะยังดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนอันเป็นวัตถุประสงค์หลัก ที่ได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
ส่วนการจะดำเนินธุรกิจหรือประกอบกิจการหรือไม่นั้น เป็นเรื่องภายในของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะ สำหรับการขออนุญาตหรือได้รับการจัดสรรให้ใช้ความถี่ เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม จากคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นเรื่องที่บริษัทสามารถดำเนินการดังกล่าวได้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้มีการระบุไว้ในทะเบียนจัดตั้งบริษัท จึงเห็นว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ( 3) ในวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
นอกจากนี้ยังเห็นว่า ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าในวันที่ 5 ก.ย.2550 นายพิธาเป็นผู้รับโอนหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดกหรือถือครองหุ้นไว้แทนทายาทอื่น มีเพียงเอกสารหลักฐาน ซึ่งเชื่อได้ว่าในวันที่ 5 ก.ย.2550 นายพิธาในฐานะผู้จัดการมรดกได้ดำเนินการโอนหุ้นของของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ (บิดา) เจ้ามรดก มาเป็นของนายพิธา ดังนั้นนายพิธาจึงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) นับตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.2550
ส่วนที่นายพิธาอ้างว่าได้โอนหุ้นดังกล่าวให้นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ น้องชายในวันที่ 24 มิ.ย.2562 ที่ปรากฏชื่อตนเองเป็นผู้ครอบครองหุ้นจนถึงวันที่ 25 พ.ค.2566 จึงมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ก็เป็นเพียงการครอบครองแทนทายาทอื่นนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด 2535 หมวด 5 หุ้นและผู้ถือหุ้นมาตรา 58 วรรคหนึ่ง ข้อ 9 กำหนดว่า
“การโอนหุ้นย่อมสมบูรณ์ เมื่อผู้โอนได้สลักหลังใบหุ้น โดยระบุชื่อผู้รับโอนและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน และส่งมอบใบหุ้นให้แก่ผู้รับโอน ที่นายพิธาอ้างว่าโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวไปแล้ว ปรากฏตามหนังสือสัญญาโอนหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ฉบับลงวันที่ 9 ก.ย.2561 โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่น เช่น ใบหุ้นซึ่งได้สลักหลัง หรือมีการลงทะเบียนการโอนหุ้น การโอนหุ้นเช่นนี้จึงไม่สมบูรณ์”
ดังนั้น เมื่อนายพิธา ยังคงมีชื่อปรากฏอยู่ในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) นับตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.2550 เรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2566 จึงโอนหุ้นดังกล่าวให้นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ทางทะเบียนของบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด กรณีจึงต้องถือว่านายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) นับตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.2550 จนถึงวันที่ 25 พ.ค.2566
และที่อ้างว่ามูลค่าหุ้นที่ถือมีจำนวนน้อย ไม่สามารถครอบงำกิจการได้ เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) มีเจตนารมณ์ในการกำหนดบุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ นั้น เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และยังกำหนดให้ลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ซึ่งเป็นการกำหนดตั้งแต่ในชั้นสมัครรับเลือกตั้งไปตลอดจนถึงขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมิได้บัญญัติถึงสัดส่วนในการถือหุ้น หรืออำนาจในทางบริหารงาน หรือครอบงำกิจการดังกล่าวแต่อย่างใด และเพื่อป้องกันมิให้บุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนอาศัยความได้เปรียบจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษแก่บุคคลใดเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในทางใดทางหนึ่ง
ดังนั้น การพิจารณาว่าบุคคลใด ‘มีลักษณะต้องห้าม’ มิให้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือพิจารณาถึงเหตุอันจะทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดสิ้นสุดลงตามบทบัญญัตินี้ จึงไม่จำต้องพิจารณาว่ามีอำนาจในการครอบงำกิจการหรือบริษัทหรือไม่
จึงเห็นว่าในวันที่ 4 เม.ย.2566 ที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต. โดยมีชื่อนายพิธาอยู่ในบัญชีลำดับที่ 1 และวันดังกล่าวนายพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดอันเป็นลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) กรณีจึงเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6)