“ทนายตั้ม” บุกร้อง ก.ร.ตร. ปูดข้อมูลเส้นทางเงิน “บิ๊กสีกากี” เอี่ยวเว็บพนัน-ฟอกเงิน ด้าน “พล.ต.ท.เรวัช” ลั่นไม่มีมวยล้ม “ส่วย” โยงถึงใครฟันไม่เลี้ยง ถึงเป็น “ผบ.ตร.” ก็ไม่ละเว้น หนักสุดถึงปลดออก-ไล่ออก
จากกรณีที่นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ “ทนายตั้ม” เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชน ได้ยื่นเรื่องร้องเรียน พร้อมมอบเอกสารเส้นทางการเงิน เพื่อให้ตรวจสอบ ‘นายตำรวจระดับสูง’ และให้มีการลงโทษทางวินัยกับตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บพนันและการฟอกเงินนั้น
พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร ในฐานะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) บืนยันว่า เราจะให้ความเป็นธรรม ขอให้เชื่อว่าคณะกรรมการชุดนี้ได้รับการคัดเลือกเป็นอย่างดี และไม่ได้แต่งตั้งโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ดังนั้นการทำงานจะอยู่นอกเหนืออำนาจของ ตร. อีกทั้งยังไม่ได้ขึ้นตรงกับหน่วยงานใด หากพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงใคร ต่อให้ยศเป็นระดับ ‘พลตำรวจเอก’ ก็จะดำเนินคดีด้านวินัย ใครผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ใครถูกก็ต้องว่าไปตามถูก
พล.ต.ท.เรวัช กล่าวว่า ถึงแม้ว่าวันนี้ทนายตั้มจะไม่ได้นำเอกสารมาร้องเรียนกับคณะกรรมการ แต่หากคณะกรรมการทราบเรื่องด้วยตัวเอง ก็จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อเข้าสู่การพิจารณาทันที ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่กระทบความเชื่อมั่นต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวงกว้าง และกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ก็จะต้องมีการดำเนินการทันที
พร้อมย้ำว่า ไม่เคยหนักใจที่จะต้องทำงานนี้ ทุกอย่างว่ากันตามพยานหลักฐาน ไม่มีมวยล้มต้มคนดู ต่อให้เป็นระดับ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หากพบหลักฐานความผิดก็จะดำเนินการให้หมด
“ส่วนจะมีการเรียกทั้ง 2 บิ๊กตำรวจเข้ามาสอบถามหรือไม่นั้น หากพยานหลักฐานเชื่อมโยงถึงใครก็จะต้องเรียกมาสอบถามทั้งหมด และหากข้อเท็จจริงปรากฏก็จะต้องได้รับการลงโทษทางวินัยเช่นเดียวกัน ซึ่งการพิจารณาเรื่องโทษทางวินัย หนักสุดคือพิจารณาไล่ออก”
ขณะที่ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน กรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ กล่าวถึงการลงโทษทางวินัยนั้น จะต้องไปตรวจสอบดูว่าวินัยร้ายแรงหรือไม่ ถ้าหากวินัยร้ายแรงก็จะต้องมีการพิจารณาปลดออกหรือไล่ออก ส่วนจะกลับเข้ามารับตำแหน่งหรือเป็นแคนดิเดตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้หรือไม่นั้น ก.ร.ตร.จะพิจารณาถึงการกระทำความผิดวินัย แต่ถ้าทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศและศักดิ์ศรีของตำรวจ อาจจะเป็นข้อพิจารณาในการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งในอนาคตได้ ยืนยันว่าคณะกรรมการชุดนี้มีอิสระในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบแล้วมีการพิจารณาให้ออก ไล่ออก หรือปลดออก ตำรวจต้องไปยื่นอุทธรณ์ที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พท.ตร.) ส่วนคดีทางอาญานั้น เป็นหน้าที่ที่ต้องพิสูจน์ตามกระบวนการของกฎหมาย แต่หากการพิจารณาของ ก.ร.ตร. พบว่ามีคดีความผิดตามอาญา ก็จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาต่อไป