มหากาพย์รถไฟฟ้าสีส้ม ได้ข้อยุติแล้ว! โดยเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.67 “ศาลปกครองสูงสุด” อ่านคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง พิพากษายกฟ้องในคดี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.65 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม
โดยคดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ใช้ดุลพินิจกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเหมาะสมและความจำเป็นแห่งกรณีเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์เป็นการเฉพาะเจาะจง ที่จะทำให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมการคัดเลือก ขณะที่ “ศาลปกครองสูงสุด” เห็นว่าคำอุทธรณ์ของ BTSC ฟังไม่ขึ้น
สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เอกชนผู้ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) รวมถึงงานเดินรถไฟฟ้าตลอดสาย บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนรวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท โดย รฟม.ได้เปิดประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.ค.65 มีผู้ซื้อซองประมูล 14 ราย และมีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่ม คือ
1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท
2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับบริษัทขนส่งอินช็อน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้ เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท
โดย รฟม.ได้ประกาศให้ BEM ชนะการประมูลเมื่อวันที่ 8 ก.ย.65 เนื่องจาก BEM ผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติและเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐสุทธิ (NPV) -78,287.95 ล้านบาท โดยมาจากการการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐช่วย ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด จะทำให้ รฟม.สามารถเซ็นสัญญากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในฐานะผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดให้กับภาครัฐ ได้ภายในปีนี้