นายกฯ แจงสภาฯ ของบรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 67 วงเงิน 1.22 แสนล้าน เติม “ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ย้ำรัฐบาลจำเป็นใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้ไม่สามารถรองบปี 68 ได้ นายกฯ รับปากใช้เงินตามกรอบวินัยการเงินการคลัง
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 17 ก.ค. ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท วาระแรก โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงหลักการและเหตุผลระบุว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้ จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท
สำหรับประมาณการเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่าย ตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกอบด้วย 1.ภาษีและรายได้อื่น โดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการ จำนวน 1 หมื่นล้านบาท 2.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 1.12 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสภาฯ เป็นการดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาสการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนกฎหมาย และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ดังนั้นภายใต้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง โดยงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ มีที่มาจากรายได้รัฐบาล 1 หมื่นล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 112,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิม ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท จะทำให้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีงบประมาณรายจ่ายรวม 3,602,000 ล้านบาท อย้างไรก็ดี รัฐบาลยืนยันจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงิน ไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศ พัฒนาตามศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย