Home Thailand มวยล้ม! ‘สินบนโรลส์-รอยซ์’ ศาลทุจริตยกฟ้อง ‘ทนง-บิ๊กบินไทย’ ชี้หลักฐาน ป.ป.ช.อ่อนยวบ

มวยล้ม! ‘สินบนโรลส์-รอยซ์’ ศาลทุจริตยกฟ้อง ‘ทนง-บิ๊กบินไทย’ ชี้หลักฐาน ป.ป.ช.อ่อนยวบ

by admin

มหากาพย์ 34 ปี “การบินไทย” โยง “สินบนข้ามชาติ!” ศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่งยกฟ้อง “ทนง พิทยะ” อดีตประธานบอร์ดฯ พ้นผิดพร้อม “กวีพันธ์” อดีตรอง ดีดี.ฝ่ายการเงิน ปมทุจริตจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ “คาบเกี่ยวหลายรัฐบาล” ระหว่างปี 2534-2548 ศาลชี้พยานหลักฐานโจทก์ “ไม่เพียงพอ” ในทุกประเด็นตามข้อกล่าวหา ส่อกังขา! ทั้งที่ข้อมูลหน่วยปราบโกง SFO แห่งสหราชอาณาจักร-กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ แฉหมดเปลือก พร้อมปูดตัวเลข “จ่ายสินบน” มูลค่า 1.2 พันล้าน จ่ายผ่านตัวแทนไทย เหตุไฉนสำนวนฟ้องอ่อนยวบ สาวไม่ถึง “บิ๊ก” ลุ้นก๊อก 2 “ป.ป.ช.” ยื่นอุทธรณ์สู้ต่อหรือไม่

มหากาพย์ “สินบนข้ามชาติ” ของ “โรลส์-รอยซ์” ที่ถูกขุดคุ้ยเผยแพร่จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (SFO) และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่าบริษัท โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce PCL.) และบริษัทในเครือ ได้จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการจำหน่ายเครื่องยนต์ให้แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมถึง บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) อีกด้วย

ปัจจุบันทั้ง 2 สำนวน มี 1 สำนวนถึงมือศาลไปแล้ว นั่นคือ กรณี “สินบนการบินไทย” ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีสั่งประทับรับฟ้อง โดยมี 2 อดีตเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำเลย ได้แก่ “ทนง พิทยะ” อดีตประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ เป็นจำเลยที่ 1 และ “กวีพันธ์ เรืองผกา” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินและการบัญชี ฝ่ายบริหารงานนโยบายบริษัทฯ เป็นจำเลยที่ 2

สำหรับเส้นทาง “การจ่ายเงินสินบนข้ามชาติ” ระหว่าง “โรลส์-รอยซ์” กับ 2 หน่วยงานรัฐข้างต้น เริ่มที่ “การบินไทย” ระหว่างปี 2534 ถึง 2548 และ “ปตท.” ระหว่างปี 2543 ถึง 2555 คาบเกี่ยวหลายรัฐบาลด้วยกัน

โดยมีการอ้างถึงมูลค่าสินบน ที่ประมาณ 36.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,211 ล้านบาท ที่มีการ จ่ายผ่านตัวแทนให้กับ “ตัวแทนของไทย” และพนักงานของการบินไทย เพื่อแลกกับการจัดซื้อเครื่องยนต์ Rolls-Royce Trent 800 สำหรับเครื่องบิน Boeing 777 จำนวน 6 ลำ และเครื่องยนต์ Trent 500 สำหรับเครื่องบิน Airbus A340 จำนวน 7 ลำ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 เม.ย.68 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดอ่านคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำ อท 152/2567 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “จำเลยทั้งสอง” ในความผิดฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 กรณีการทุจริตจัดซื้อเครื่องบินที่ติดตั้งด้วยเครื่องยนต์ยี่ห้อ “โรลส์-รอยซ์” ครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2547-2548

โจทก์ฟ้องระบุความผิดสรุปว่า จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจในตำแหน่งที่ตนเป็นประธานกรรมการบริษัทฯ เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง ครอบงำ การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายจัดการหรือฝ่ายบริหารอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท การบินไทยฯ ในการพิจารณาการเพิ่ม ลดจำนวนเครื่องบิน การจัดหาเครื่องยนต์และอะไหล่เครื่องบิน ตลอดจนการจัดหาเครื่องบินและเครื่องยนต์โดยมุ่งหมายให้มีการพิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง (LM) เพียง A340-600 กับ B777-200ER ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ติดตั้งด้วยเครื่องยนต์ยี่ห้อโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ทั้งที่บริษัทเคยประสบปัญหาค่าซ่อมเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และเครื่องยนต์ TRENT มีแหล่งซ่อมน้อยมาก

การกระทำของจำเลยทั้งสอง ซึ่งมีหน้าที่ทำ จัดการ เกี่ยวกับจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER จำนวน 6 ลำ และเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ TRENT 892 สำหรับเครื่องบินดังกล่าว รวมทั้งเครื่องยนต์สำรอง-อะไหล่โรลส์-รอยซ์ TRENT 892 สำหรับโบอิ้ง และเครื่องยนต์สำรอง-อะไหล่โรลส์-รอยซ์ TRENT 500 สำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500/600 รวม 7 เครื่อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐาน ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น โดยจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างแล้วเห็นว่า “จำเลยที่ 1” ม่มีพฤติการณ์ในการโน้มน้าวให้คณะอนุกรรมการพิจารณาจัดหาเครื่องบิน B777-200ER อีกทั้งไม่มีพยานหลักฐานฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้สั่งให้แก้ไขรายงานการประชุมในการแก้ไขการสั่งซื้อเครื่องยนต์สำรอง จากบริษัท โรลส์-รอยซ์ฯ

ประกอบกับ นายกวีพันธ์ เรืองผกา จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจตามมติคณะกรรมการบริษัทและในการจัดหาเครื่องบิน B777-200er และเครื่องยนต์สำรอง เป็นไปโดยชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย อีกทั้งการแก้ไขเครื่องยนต์อยู่ในแผนอยู่แล้ว ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องเช่นกัน พิพากษายกฟ้อง

Related Articles