“อลงกรณ์-เอฟเคไอไอ” ชู “สาหร่าย” คือทองคำเขียว เป็นพืชแห่งอนาคตภายใต้แนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ตอบโจทย์สร้างรายได้ใหม่ เพิ่มความมั่นคงอาหาร ลดโลกร้อน เร่งยกระดับเกษตรมูลค่าสูง พัฒนาอุตสาหกรรมสาหร่ายครบวงจร ตั้งเป้าตลาดโลก 2.6 ล้านล้าน
นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ. และประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยภายหลังบรรยายพิเศษในงานประชุมวิชาการสาหร่ายและแพลงตอนแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ที่เชียงใหม่ จัดโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการพัฒนา “สาหร่าย” หรือทองคำเขียวของไทย เป็นพืชและอาหารแห่งอนาคต (Future Crop & Future Food) ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ผสมผสานภูมิปัญญาไทย ยกระดับสู่เกษตรมูลค่าสูง เพิ่มรายได้ประเทศและชุมชน ลดการนำเข้าและตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร พร้อมลดปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน
จุดเด่นของการส่งเสริมสาหร่ายคือ 1. ลดการขาดดุลการค้าและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยไทยนำเข้าสาหร่ายติดท็อปเทนของโลก การพัฒนาการเพาะเลี้ยงและแปรรูปในประเทศ จะช่วยลดการพึ่งพาต่างประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร เช่น บะหมี่สาหร่าย อาหารเสริม เครื่องสำอาง และปุ๋ยชีวภาพ
2.สนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยสาหร่ายช่วยดูดซับ CO₂ ได้มากกว่าไม้บก 5 เท่า และเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 สอดคล้องกับทศวรรษวิทยาศาสตร์มหาสมุทรแห่งสหประชาชาติ
3.ขยายผลสู่ชุมชน 50 จังหวัด ผ่านความร่วมมือของกรมประมง และเครือข่ายวิจัย เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน (จันทบุรี) และฟาร์มทะเลตัวอย่าง (เพชรบุรี) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงและแปรรูปสู่เกษตรกร
4.ต่อยอดอุตสาหกรรมสีเขียว แปรรูปสาหร่ายเป็น พลาสติกชีวภาพ(Bioplastic)และ น้ำมันชีวภาพ (Biofuel)ลดการใช้พลาสติกจากปิโตรเลียม ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์โลกที่หันมาใช้วัสดุย่อยสลายได้
ทั้งนี้ เริ่มมีการพัฒนาสาหร่ายอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2563 ตามนโยบายอาหารแห่งอนาคต( Future Food Policy) ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งตนเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีในขณะนั้น รับนโยบายมาส่งเสริมสาหร่ายทะเล (Seaweed) และสาหร่ายน้ำจืดตั้งแต่การผลิต การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ การแปรรูปและการตลาด
โดยมอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง และศูนย์เพาะเลี้ยงน้ำจืด เร่งเดินหน้าในการรวบรวมพันธุ์ การเพาะเลี้ยงและการเผยแพร่พันธุ์ ดำเนินการในพื้นที่ 50 จังหวัด แบ่งเป็น 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล รวม กทม. และอีก 28 จังหวัด โดยความร่วมมือระหว่างกรมประมง กระทรวงเกษตรฯ กระทรวง อว. สวทช. ศูนย์ความเป็นเลิศสาหร่าย วว. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้า สภาเอสเอ็มอี มูลนิธิเวิลด์วิว อินเตอร์เนชั่นแนล มูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมต และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC: Agritech and Innovation Center) มีศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งและศูนย์เพาะเลี้ยงน้ำจืดทั่วประเทศ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน (จันทบุรี) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งแหลมผักเบี้ยและฟาร์มทะเลตัวอย่าง (เพชรบุรี) ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงและแปรรูปสู่ฟาร์มเกษตรกร โดยพัฒนาสาหร่ายเป็นผลผลิตและผลิตภัณฑ์ชุมชน( Community based product)สร้างแหล่งอาหารและรายได้ใหม่ให้ประชาชนในท้องถิ่นและเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ

ยิ่งกว่านั้น ยังมีการพัฒนาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินกว่า 40 ปี โดยคุณเจียมจิตต์ บุญสม ผู้ตั้งชื่อ “สาหร่ายเกลียวทอง” โดยขยายผลเป็น “บุญสมฟาร์ม” ที่อำเภอแม่วาง จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่เพาะเลี้ยง “สาหร่ายสไปรูลิน่า” ไม่ต่ำกว่า 40,000 ตารางเมตร รวมถึงศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย (ALEC) ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ ปตท. พัฒนาสาหร่ายน้ำจืดมากว่า 20 ปี โดยเฉพาะโครงการน้ำมันชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพอัลจินัว
ปัจจุบันยังมีอีกหลายบริษัทหันมาพัฒนาสาหร่ายเชิงพาณิชย์เช่น บริษัท บางจากฯ ,บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ,บริษัท ล็อกซเล่ย์ ,บริษัท ไทยยูเนี่ยน ,บริษัท เถ้าแก่น้อย บีจีซี (BGC) และบริษัท OverDaBlue ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพ รวมทั้งโครงการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในกระชังของมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมต ร่วมกับชุมชนชาวประมงที่จังหวัดกระบี่ เป็นต้น
นายอลงกรณ์ พลบุตร ในฐานะประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมน และอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า “สาหร่ายไม่ใช่แค่พืชท้องถิ่น แต่เป็นทองคำเขียว ที่จะพลิกโฉมเกษตรมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของไทยและของโลกในมิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม”
“อุตสาหกรรมอาหาร” สำหรับสาหร่ายใช้ในอุตสาหกรรมอาหารคิดเป็น 77% ของตลาด (ปี 2024) โดยเป็นส่วนประกอบในอาหารแปรรูป อาหารเสริม และเครื่องดื่ม ตัวอย่างเช่น สาหร่ายโนริ วากาเมะ และผงสาหร่ายในผลิตภัณฑ์วีแกน
อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง โดยสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่นฟูคอยแดนและแอลจีเนตสำหรับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและยา
“ความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม” โดยสาหร่ายดูดซับก๊าซเรือนกระจกคาร์บอนไดออกไซด์( CO₂ ) มากกว่าต้นไม้ 5 เท่า และใช้ทำผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-based Packaging) เช่น บริษัทZeroCircle ของอินเดีย
เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ความต้องการเชื้อเพลิงสะอาดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สาหร่ายเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำมันชีวภาพพลังงานทางเลือก และน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF)
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลในหลายประเทศสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสาหร่ายอย่างจริงจัง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ออสเตรเลีย อเมริกา ไอซ์แลนด์ และล่าสุดคือ อินเดีย ตั้งเป้าผลิต 1 ล้านตันต่อปีภายในปี 2025
สำหรับการส่งออก เป็นอีกเป้าหมายสำคัญ เพราะมูลค่าตลาดโลกของสาหร่ายในปี 2024 สูงถึง 35.35 พันล้านดอลลาร์ (1.5 ล้านล้านบาท) ทั้งตลาดการเพาะเลี้ยงและตลาดสาหร่ายเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ คาดการณ์ปี 2025 จะเพิ่มเป็น 50.03 พันล้านดอลลาร์(1.6 ล้านล้านบาท) และ 80 พันล้านดอลลาร์ (2.6 ล้านล้านบาท) ในปี 2029 ด้วยอัตราเติบโดปีละกว่า 12.1%
