คณะรัฐมนตรีไฟเขียว! ร่างงบประมาณรายจ่าย 2569 กรอบวงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท หลัง “กฤษฎีกา” ตรวจแล้ว พร้อมชงสภาฯ “วาระแรก” 28-30 พ.ค.นี้ แจงสัดส่วนงบก้อนใหญ่ ชำระหนี้ภาครัฐ 4.2 แสนล้าน ชดใช้เงินคงคลังอีกแสนกว่าล้าน ส่วนงบกลาง 6.3 แสนล้าน หากจำแนกตามยุทธศาสตร์ ระบุ “งบความมั่นคง” 4.1 แสนล้าน งบเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน 3.9 แสนล้าน ด้านทรัพยากรมนุษย์ 6 แสนล้าน ด้านสังคม 9.4 แสนล้าน คุณภาพชีวิต-สิ่งแวดล้อม วงเงิน 1.4 แสนล้าน พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 6 แสนล้าน ขณะที่ “แพทองธาร” แย้มถกแกนนำพรรคร่วมฯ ชี้เห็นพ้องกันหมด ยันโหวตงบรายจ่ายฯ 69 ไม่มีอะไรตื่นเต้น
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว พร้อมเอกสารประกอบงบประมาณ รวม 39 เล่ม และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป โดยที่สภาฯ จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระที่ 1 ในสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 28 พ.ค.-1 มิ.ย.68
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการหารือพรรคร่วมรัฐบาลก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะเข้าสู่การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร โดยชี้ว่า ได้พูดคุยกันเรียบร้อยแล้ว ไม่มีเรื่องอะไรที่ตื่นเต้น ส่วนที่จะมีการปรับ โยกย้าย หรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณ เป็นกลไกของทางสภา โดยเรื่องงบประมาณ พรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ไม่มีอะไร ซึ่งการประชุมสภาจะคุยกันถึงเรื่องงบประมาณ
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 3,780,600 ล้านบาท โดยจำแนกตามประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
รายจ่ายงบกลาง วงเงิน 632,968 ล้านบาท คิดเป็น 16.74%
รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ วงเงิน 1,408,060 ล้านบาท คิดเป็น 37.25%
รายจ่ายบูรณาการ วงเงิน 98,767 ล้านบาท คิดเป็น 2.61%
รายจ่ายบุคลากร วงเงิน 820,820 ล้านบาท คิดเป็น 21.71%
รายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน วงเงิน 274,576 ล้านบาท คิดเป็น 7.26%
รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ วงเงิน 421,864 ล้านบาท คิดเป็น 11.16%
รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง วงเงิน 123,541 ล้านบาท คิดเป็น 3.27%
ทั้งนี้ หากจำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2569 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ สรุปได้คือ
ด้านความมั่นคง วงเงิน 415,327 ล้านบาท
ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน วงเงิน 394,611 ล้านบาท
ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ วงเงิน 605,927 ล้านบาท
ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม วงเงิน 942,709 ล้านบาท
ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วงเงิน 147,216 ล้านบาท ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ วงเงิน 605,441 ล้านบาท